เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ขณะนี้การปรับหลักสูตรดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เพิ่งรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้การปรับหลักสูตรตรงกับความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงความพร้อมในการผลิตครูให้มีทักษะการสอนหลักสูตรใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ซึ่งฐานความคิดมาจากอดีตที่เป็นหลักสูตรที่อิงเนื้อหา แต่เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการศึกษา และจากการประเมินการใช้หลักสูตรอิงมาตรฐานพบว่า เด็กที่ผ่านการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรฯอิงมาตรฐาน มีคุณลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สพฐ.จึงมองว่า หากเราต้องการคนที่มีคุณลักษณะหรือทักษะในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ในศตวรรษที่ 21 ทั้งเรื่องภาษา การสื่อสาร และเทคโนโลยี เป็นต้น เราจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของเทรนด์โลกปัจจุบัน จากแนวคิดนี้ สพฐ.ซึ่งมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงหลักสูตรขั้นพื้นฐานจากอิงมาตรฐานมาเป็นอิงสมรรถนะ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการทำหลักสูตรใหม่ต้องมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่กำหนดกรอบความคิด การจัดทำหลักสูตร การนำหลักสูตรไปทดลองใช้ การประเมินหลักสูตรจนตกผลึกมีความสมบูรณ์พร้อมจึงประกาศใช้หลักสูตรได้
“เนื่องจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้การปรับหลักสูตรเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงเชิญผู้เกี่ยวข้องจากคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และโรงเรียนสาธิตฯ รวมถึง สพฐ.มาหารือร่วมกัน เพื่อรับฟังความเห็น และรับทราบว่า สพฐ.ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่ง สพฐ.ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า กรอบแนวคิดเป็นอย่างไร สมรรถนะที่ต้องการให้เกิดกับเด็กมีอะไรบ้าง แล้วจะทำให้เกิดได้อย่างไร ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ควรมีการรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายอีกครั้ง รมว.ศึกษาธิการ จึงมอบให้ สพฐ.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากำหนดแนวทางร่วมกัน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ นายณัฏฐพล ยังได้แสดงความห่วงใยว่า หากจะทำหลักสูตรใหม่ ต้องทำควบคู่ไปกับการผลิตครูใหม่ เพื่อให้มีทักษะในการสอนอิงฐานสมรรถนะ ซึ่งก็ต้องให้อาจารย์จากคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ มารับทราบหลักการและแนวทางร่วมกัน หรือ มาร่วมกันสร้างหลักสูตรเพื่อให้ได้หลักสูตรที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงแนวทางการพัฒนาครูประจำการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ให้ไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังได้ด้วย