ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยให้ทางพื้นที่รายงานสถานการณ์เข้ามาเป็นระยะ ซึ่งทางส่วนกลางพร้อมที่จะให้ การสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในทันที อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องสอนให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ เกี่ยวกับการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นภายหลังจากที่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ออกมาได้แล้ว สพฐ.จะมีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ว่า นักเรียนควรเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างก่อนเข้าไปเที่ยวในสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ไฟฉาย อาหารแห้ง น้ำดื่ม เพื่ออย่างน้อยให้อยู่ได้ 1-2 วัน และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการระดมเงินในส่วนของ สพฐ.เพื่อเตรียมการช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพร่ายกายและจิตใจเด็กหลังออกจากถ้ำนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) จำนวน 131 เขต ส่งเงินสมทบเข้ามาแล้ว เมื่อรวมกับส่วนที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และคณะทำงาน รวมถึง สพฐ และคณะผู้บริหาร ร่วมสมทบแล้ว เวลานี้มียอดรวมกว่า 395,000 บาทแล้ว
“ทั้งนี้ในเรื่องของการอบรมให้ความรู้นักเรียนเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่าง ๆ นั้น ต่อไปโรงเรียนจะต้องมีการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ การจัดองค์ความรู้ การเตรียมพร้อม และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ให้นักเรียนปฏิบัติได้จริง และขอให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตั้งทีมกู้ภัยฉุกเฉินในกลุ่มโรงเรียน หรือ โรงเรียนที่มักเกิดสถานการณ์ล่อแหลม เพื่อดูแลป้องกันเหตุต่าง ๆ ด้วย โดยขอให้เตรียมความพร้อมตลอดเวลาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ให้สามารถปฏิบัติได้ทันที”ดร.บุญรักษ์กล่าว