เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เห็นชอบในหลักการการปรับแผนการดำเนินงานทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตามที่ ศธ.เสนอ  โดยมอบหมายให้ ศธ.หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมีการให้ทุนนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไป  ดังนั้นจึงเห็นว่าควรปรับแผนการให้ทุน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  ทั้งในเรื่องของการใช้ทุน จำนวนทุนที่ให้ทั้งในและต่างประเทศ เพราะการวิจัยเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ

รมว.ศึกษาธิการ  กล่าวต่อไปว่า  การปรับแผนการดำเนินงานทุน พสวท. ตั้งแต่ พ.ศ.2560-2564  เช่น การปฏิบัติงานตอบแทนทุนของผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ในหน่วยงานภาคเอกชนและสถานศึกษาเอกชน การนับเวลาปฏิบัติงานตอบแทนทุนของผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม เป็นต้น โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งสำนักงาน ก.พ. เห็นด้วยในหลักการและเห็นว่าสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)  ควรมีวิธีการและเทคนิคในการกำหนดจำนวนทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และ ควรมีแนวทางและระบบการบริหารและติดตามการตอบแทนทุนที่ชัดเจน

สำหรับรายละเอียดแผนการดำเนินงานที่ปรับปรุง คือ  การสรรหานักเรียนเข้ารับทุน จากเดิม ระดับชั้น ม.ปลาย จะคัดเลือกผู้จบ ม.ต้น ที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการสอบและสัมภาษณ์ ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนที่เป็นศูนย์พสวท. ปรับเป็น  ผู้ผ่านการคัดเลือกสามารถเรียนโรงเรียนที่เป็นศูนย์พสวท. หรือ ที่โรงเรียนเดิม หรือ โรงเรียนอื่นที่มีศักยภาพเทียบเท่าศูนย์ พสวท. ได้ตามความต้องการของผู้เรียน และนักเรียนที่รับทุนจะไม่สามารถรับทุนอื่นซ้ำซ้อน และจะจำกัดจำนวนผู้รับทุนในแต่ละสถานศึกษา โดยเหตุผลที่ปรับเพราะนักเรียน ม.ต้น ส่วนใหญ่ต้องการเรียนต่อที่เดิมหรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียง

สำหรับจำนวนทุนจะมีการปรับลดจำนวนทุนการศึกษาในประเทศ และขอปรับเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ ระดับ ปริญญาตรี-โท-เอก เพื่อให้นักเรียนทุน พสวท.ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างสูงสุด ดังนี้ จากเดิม ทุนในประเทศ  ม.ปลาย คัดเลือกใหม่ 100 ทุน/ชั้นปี ปรับเป็นรับใหม่ ไม่เกิน 40 ทุน/ชั้นปี  ปริญญาตรีจากที่รับต่อเนื่องจากนักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย จำนวน 90 ทุน/ชั้นปี และรับจากนักเรียน ม.ปลาย ทั่วไป จำนวน 80 ทุน/ชั้นปี รวม 170 ทุน/ชั้นปี ปรับเป็น คัดเลือกจาก นักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย และจากนักเรียนทั่วไปและนักเรียนโครงการทุนวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ของรัฐบาลและ เอกชน จำนวนไม่เกิน 140 ทุน/ชั้นปี และจะได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับ

ทุนการศึกษาต่างประเทศ ปริญญาตรี-โท-เอก จากรับต่อเนื่องจาก นักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย จำนวน 10 ทุน/ชั้นปี ปรับเป็น ทุนการศึกษาต่างประเทศ นักเรียนทุน พสวท. ม.ปลาย ที่มี คุณสมบัติตามที่ สสวท. กำหนดก่อน แล้วจึงคัดเลือกนักเรียนโครงการทุน วิทยาศาสตร์อื่น ๆ ของรัฐบาลและ เอกชนเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 40   ทุน/ชั้นปี นอกจากนี้เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาตรี ผู้รับทุนสามารถสมัครเพื่อขอรับทุนวิทยาศาสตร์อื่นของรัฐบาลและทุนอื่น ๆ เพื่อศึกษาต่อใน ระดับที่สูงขึ้นได้

ขณะเดียวกันยังขอปรับกรอบค่าใช้จ่ายส่วนตัวในอัตราที่ไม่มากกว่าวุฒิขั้นต่ำที่ข้าราชการได้รับ ดังนี้ ในประเทศ ม.ปลาย 9,150 บาท/เดือน  เพิ่มขึ้นจากเดิม  3,050 บาท  ปริญญาตรี 10,950 บาท/เดือน  เพิ่มขึ้นจากเดิม  3,650 บาท  ปริญญาโท 12,180 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นขึ้นจากเดิม  3,480 บาท  และปริญญาเอก 16,800 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นจากเดิม  4,800 บาท ส่วนศึกษาต่างประเทศ ให้คงอัตราเดิม คือ ใช้อัตราค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาล ณ ต่างประเทศของสำนักงาน ก.พ. รวมถึงมีการปรับการใช้ทุน เนื่องจากภาคเอกชนยังขาดแคลนนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยต้องพึ่งพาอาศัยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงขอปรับเปลี่ยนรูปแบบและหน่วยงานสำหรับปฏิบัติงานตอบแทนทุนให้สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนในหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนภายในประเทศได้ จากเดิมต้องปฏิบัติงานตอบแทนทุนในตำแหน่งนักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ หรืออาจารย์ในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments