นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองได้ด้วยการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยมอบนโยบายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยประมง ทั่วประเทศดำเนินการ ต่อมาได้ขยายผลไปยังวิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ วิทยาลัยประเภทอื่น ๆ สังกัด สอศ.นั้น ปัจจุบันมีวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการชีววิถีฯ จำนวน 111 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานใน 4 เรื่อง ได้แก่ การเพาะปลูก การปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้สารเคมี ทำให้สามารถลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี สามารถดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติ เพื่อผลผลิตที่ได้รับจะเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ ผู้บริโภคปลอดภัย เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความยั่งยืนกับสังคม
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินโครงการในปี 2564 สอศ.จะนำนโยบายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในวิทยาลัยเกษตรและวิทยาลัยประมง เพื่อการมีงานทำ พัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำด้านการเกษตรและประมง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรให้แก่เยาวชน เกษตรกรและชุมชน ยกระดับและพัฒนาการเรียนการสอนไปสู่ Digital Farming โดยการนําวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรให้มากขึ้น การบริหารจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ยและป่าไม้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ การสร้างการเรียนรู้แบบใหม่โดยนําข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการทํางานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตรและประมง สร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการ จึงจําเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สถานประกอบการและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
“การทำงานในทุกมิติสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ โดยมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน โครงการชีววิถีฯ ที่ กฟผ. ร่วมมือกับ สอศ. เป็นเวลา 17 ปี มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และแปลงสาธิตตามรูปแบบโครงการชีววิถีฯ ในสถานศึกษาต่าง ๆ ของ สอศ. ส่งผลให้มีการขยายผลสู่ชุมชนได้มากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และยังเป็นการขยายผลสู่นักเรียน คณาจารย์ และราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงสถานศึกษา รวมทั้งยังมีการสร้างงานวิจัยร่วมกันมากกว่า 100 ชิ้นงาน”นายสุเทพ กล่าวและว่าสำหรับการประกวดผลการดำเนินงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีผลการดำเนินงานชนะเลิศระดับประเทศทั้ง 8 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น รูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร และรูปแบบแปลงสาธิต ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพนมทวน
ประเภทที่ 2 ครู บุคลากรทางการศึกษา นำไปใช้และขยายผลดีเด่น ได้แก่ นางธนพร แสนบุตร วิทยาลัยเกษตรแลพเทคโนโลยีมหาสารคาม
ประเภทที่ 3 นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันนำไปใช้และขยายผลดีเด่น ได้แก่นายจารุศักดิ์ พึ่งป่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี
ประเภทที่ 4 ราษฎรที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ นางรัชนี จุลใส วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
ประเภทที่ 5 ชุมชนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ บ้านนาเจริญ หมู่ 13 ตำบลจำปาโมง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี
ประเภทที่ 6 โรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัย และใช้ได้ผลดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนชลธีพฤกษาราม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร
ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น ได้แก่ สมาร์ทการ์เด้นเฮ้าส์ วิทยาลัยการอาชีพสมเด็จเจ้าพะโคะ
ประเภทที่ 8 งานวิจัยและนวัตกรรมในโครงการชีววิถีฯ ดีเด่น ได้แก่ การศึกษาการใช้ซูปเปอร์โบกาฉิในสูตรอาหารต่อสมรรถภาพการเจริญเติบโตของไก่พื้นเมืองลูกผสม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด
ด้าน นายนำพล โพธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. ในฐานะที่กำกับดูแลโครงการชีววิถีฯ กล่าวว่า ในปี 2564-2565 กฟผ. และ สอศ. มีแผนการขับเคลื่อนโครงการฯร่วมกันตามแนววิถีใหม่เพื่อยกระดับการดำเนินงาน โดยจะมุ่งเน้นการต่อยอดชุมชนที่ได้รับการขยายผลจากทั้ง 2 หน่วยงานและมีความพร้อม เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรมสู่รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ปัจจุบัน มีกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการชีววิถีฯ ที่ดำเนินการในครัวเรือน ล้วนเป็นกระบวนการที่ปลอดสารเคมีอย่างสิ้นเชิงในทุกกิจกรรม ทั้งทางด้านการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และ การจัดการสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กฟผ. จึงมีแนวคิดที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ปลอดสารเคมีมาเป็นจุดขาย โดยมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ สู่กระบวนการจำหน่ายอย่างเป็นรูปธรรม ในลักษณะของการรวมกลุ่มระดับชุมชนและใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์เป็นแหล่งผลิต โดยจะใช้มาตรฐานผักอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ คือ Oganic Thailand มาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน
“นอกจากนี้ยังได้เตรียมแผนงานที่จะจัดตั้งศูนย์ฝึกปฏิบัติการโครงการชีววิถีฯ 4 ภาค ภายในปี 2564 โดยให้ครอบคลุมทั้ง ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยใช้สถานศึกษาของ สอศ. ที่มีความพร้อม เป็นพื้นที่ศูนย์ฝึกฯ และในปี 2565 ยังได้เตรียมที่จะจัดตั้ง ‘สถาบันชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ร่วมกัน เพื่อบูรณาการและต่อยอดองค์ความรู้ที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้ดำเนินการร่วมกัน จัดทำเป็นหลักสูตร ตำราเรียน และ การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด”นายนำพลกล่าว
นางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ. กล่าวว่า ขอบคุณ สอศ.ที่เล็งเห็นประโยชน์ของประเทศชาติ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยสนับสนุนการดำเนินโครงการชีววิถีฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เกษตรกรและผู้สนใจอาชีพด้านการเกษตร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการคิดค้น นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยที่เกี่ยวกับชีววิถีฯ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน