ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อแนวทางการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ซึ่งได้สอบถามนักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป และบุคลากรในสังกัด สพฐ. และครู รวม 21,291 คน ผ่านทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 6-11 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้
- ควรใช้การสอบโอเน็ต เพื่อเทียบเคียงมาตรฐานการจัดการศึกษาทั้งประเทศ ว่า เป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่ เห็นด้วย 75.8%
- รูปแบบของข้อสอบโอเน็ต ควรสอดคล้องกับการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ครอบคลุมพฤติกรรมและเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตร เห็นด้วย 94.6%
- การสอบโอเน็ต ระดับ ป.6 และม.3 ควรใช้วิธีสุ่มหรือสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกคน เห็นด้วย 55.8%
- นักเรียนชั้น ม.6 ควรสอบโอเน็ตทุกคน หากจำเป็นต้องใช้ผลโอเน็ตในการคัดเลือกเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เห็นด้วย 84.6%
- ควรนำผลโอเน็ตไปใช้เพื่อการพัฒนาปรับปรุง ไม่เน้นนำไปตัดสิน จัดลำดับ แข่งขันให้รางวัล โยกย้าย เป็นต้น เห็นด้วย 90.4%
- ควรนำผลสอบโอเน็ต ชั้น ม.6 ไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย เห็นด้วย 73.6%
- ควรรวมข้อสอบโอเน็ต ชั้น ม.6 และวิชาสามัญ 9 วิชา ไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อลดจำนวนการสอบและลดความเครียดจากการสอบ เห็นด้วย 89.2%
- ให้ปีการศึกษา 2566 ใช้โอเน็ต และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วย เพื่อให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในห้องเรียน เห็นด้วย 88.8%
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ทั้งนี้ตนจะนำข้อสรุปผลการสำรวจที่ได้ไปหารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 24 พ.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป