จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ส่งผลกระทบให้กับหลาย ๆ ด้าน และจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษากระทบเป็นอย่างมาก ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงออกประกาศ เรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งหยุดการเรียนการสอนแบบปกติ มาปรับเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด และการปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ของบุคลากรในสังกัดกระทรวง อว. ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยนักศึกษาเขามีวิธีในการรับมือสถานการณ์ โควิด-19 กันอย่างไรบ้าง เราจะไปฟังกัน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด กล่าวว่า มาตรการในการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด -19 มทร.ธัญบุรีได้ มีการจัดตั้งวอลล์รูมแก้ไขและป้องกันปัญหาทั้งระบบ โดยการเรียนการสอนภาคฤดูร้อน ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายน จนถึงเดือนมิถุนายน จะเป็นการเรียนระบบออนไลน์ ส่วนบุคลากรจะจัดให้ทำงานแบบ Work from home ส่วนคนที่จำเป็นจะต้องเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจะมีการวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าอาคาร โดยในส่วนอาคารต่าง ๆ ได้มีการฉีดยาฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดทุกวันและปิดห้องเรียนจนกว่าจะเปิดภาคเรียนใหม่ในเดือนมิถุนายน
“แจ๊บ” นายศุภศิษฐ์ สีลา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ นายกองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เหลือแค่โปรเจคอีกหนึ่งตัวผมจะสำเร็จการศึกษา และเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้สอบนำเสนอโปรเจคผ่านโปรแกรม Microsoft Teams กับอาจารย์ ด้วยอุปกรณ์ที่พร้อมและเตรียมตัวในการนำเสนอ ทำให้การนำเสนอไม่มีปัญหา ผ่านไปได้ด้วยดี ตอนนี้กำลังแก้เล่มส่งอาจารย์ โดยผ่านทางอีเมล เมื่อรูปแบบการเรียนเปลี่ยนไป อยากให้ทุกคนเตรียมตัวและปรับตัว หาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและโปรแกรมใหม่ ๆ ที่อำนวยความสะดวกและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนระหว่างคนเรียนและผู้เรียน ตอนนี้โน๊ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ส่วนมากเพื่อน ๆ มีกันทุกคน แต่ปัญหาคือระบบอินเทอร์เน็ตสัญญาณเชื่อม ปฏิเสธไม่ได้ที่ทุกคนเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ แต่ความเร็วอาจไม่เสถียรต่อการเรียนออนไลน์ จึงอยากให้เครือข่ายต่าง ๆ เปิดบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ ราคาถูก และที่สำคัญอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ป้องกันตัวเอง ให้ความร่วมมือทำตามประกาศของสาธารณสุขครับ
เช่นเดียวกันกับ ประธานกรรมมาธิการฝ่ายติดตามผลงานและกิจกรรมนักศึกษา สภานักศึกษา มทร.ธัญบุรี “เตย” นางสาวจันทกานต์ สุนันทพจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า ไวรัสโควิค-19 ทำให้เราต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องระวังตัว ช่วงที่เกิดการแพร่โรคระบาดเป็นช่วงของการสอบของมหาวิทยาลัยพอดี อาจารย์ทุกท่านมีการจัดสอบออนไลน์ ใช้การสอบผ่านเว็บไซต์ Moodle ของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสอบได้ที่ห้องพักหรือบ้านของตัวเอง โดยที่เราไม่สามารถลอกข้อสอบกันได้เนื่องจากมีการกำหนดเวลาในการทำข้อสอบ และตัวโปรแกรมมีการสลับข้อไม่ให้ซ้ำแบบกันเลย ถ้าช่วงเปิดเทอมโรคยังไม่หาย ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งได้เตรียมตัวและศึกษารูปแบบการเรียนผ่านโปรแกรม ต่าง ๆ โดยจะใช้โปรแกรมอะไร เป็นสื่อในการเรียนนั้นขึ้นอยู่กับผู้สอนเป็นหลัก ช่วงนี้อยากให้ทุกคนติดตามข่าวสารเป็นประจำ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าข่าวสารที่อ่านเป็นความจริงหรือไม่ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
“เจ” นายศุภรัตน์ รัตนพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า รูปแบบการเรียนออนไลน์ เหมือนเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เรียนผ่านทางหน้าจอ ได้เห็นเพื่อนในห้องเรียน ทางออนไลน์ผ่านทางหน้าจอ มีครูสอน เป็นสิ่งที่แปลกตาไม่คุ้นชิน ซึ่งการเรียนออนไลน์ถ้าครูสอนอัดเป็นคลิปวิดีโอไว้ สามารถกลับมาดูย้อนหลังได้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงสอบ อาจารย์หลาย ๆ ท่านส่งไฟล์ข้อสอบ หรือวิดีโอที่เป็นคำอธิบายในการมอบหมายงานมาให้ และให้ส่งกลับทางอีเมล หรือกลุ่มไลน์ ต้องมีการปรับตัว แรก ๆ อาจจะยังไม่ชิน เพราะการเรียนออนไลน์จะต้องมีวินัย มีความตั้งใจสูง มีความรับผิดชอบในตัวเองอย่างมาก ตัวผมทำงานหลังเลิกเรียนเพื่อหารายได้ในช่วงนี้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ในทั้งเรื่องการเดินทางออกจากที่พัก รถประจำทางที่ลดจำนวนคัน ทำให้การเข้างานล่าช้า อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้อื่นที่นั่งร่วมในการเดินทาง แต่เลี่ยงไม่ได้ผมป้องกันตนเองสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ดูแลตัวเองมากขึ้นและยังมีน้ำใจต่อกันและอีกไม่นานมันจะผ่านไปด้วยดีครับ
ส่วน “ฝ้าย” นางสาวขวัญกมล ณะสม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ เล่าว่า ตอนนี้รอสอบออนไลน์ 1 วิชา และเรียนออนไลน์ ภาคฤดูร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคม ตอนนี้อยู่ที่บ้านพยายามเปิดคอมพิวเตอร์ตลอด อัพเดรตข่าวสารของมหาวิทยาลัย และข่าวสารต่าง ๆ ตนเองคิดว่ารูปแบบการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อการเรียนในสาขาของตนเอง เพราะว่า ต้องลงมือปฏิบัติ แต่เชื่อว่าอาจารย์และมหาวิทยาลัยต้องมีระบบที่เอื้อต่อการเรียนของนักศึกษา ภัยของโควิค-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคน ซึ่งตนเรียนพยาบาล เห็นบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานอยากหนักบางคนปฏิบัติงานไม่ได้กลับบ้านไปหาครอบครัว ขอส่งกำลังใจและขอขอบคุณที่ทำเพื่อคนไทย ซึ่งตัวเองก็จะอยู่บ้านตามคำแนะนำของหมอค่ะ