เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2563 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณี กรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)บางคน เสนอให้ยกเลิกข้อสอบ  แบบทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ หรือ โอเน็ต  ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) มีแนวคิดที่จะปรับปรุงข้อสอบโอเน็ต ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าข้อสอบโอเน็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดมาตรฐานการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเรามีเด็กนักเรียน ที่เรียนแตกต่างกันอย่างหลากหลายทั่วประเทศ และขณะนี้เรายังใช้ข้อสอบโอเน็ตเป็นเครื่องมือวัดมาตรฐานกลางระดับชาติอยู่ แต่หากยกเลิกจริงก็ต้องดูรายละเอียดและต้องมีข้อเสนอเครื่องมือวัดอื่นที่ดีกว่ามาแทนโอเน็ตด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส บางรอบ เช่น รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน ก็ไม่ได้ใช้คะแนนโอเน็ตไปประกอบการพิจารณา ซึ่งจากการวิเคราะห์ของสำนักทดสอบทางการศึกษาของ สพฐ. ได้วิเคราะห์คะแนนสอบโอเน็ต ย้อนหลัง 5 ปี พบวิชาภาษาไทย มีคะแนนสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาษาอังกฤษบางปีคะแนนสูง บางปีคะแนนตก  บางปีคะแนนสูง นั้น ส่วนตัวเห็นว่าคะแนนสอบแต่ละปีไม่สามารถนำมาเทียบกันได้ เพราะปัจจัยการสอบแตกต่างกัน เช่น ข้อสอบโอเน็ตแต่ละปีแตกต่างกัน ส่วนกลุ่มนักเรียนที่เข้าสอบก็คนละกลุ่ม บางปีเด็กเก่งมาก บางปีแรงจูงใจการสอบก็มากน้อยต่างกัน เช่น ถ้าสอบเพื่อนำคะแนนเป็นส่วนหนึ่งในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กจะตั้งใจสอบ คะแนนก็จะสูง

ดร.อำนาจ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการพัฒนาข้อสอบโอเน็ตนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อหาความสอดคล้องกัน 3 ส่วน ประกอบด้วย ข้อสอบโอเน็ต การจัดการเรียนการสอน และแรงจูงใจในการสอบของนักเรียน  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความสอดคล้องกันแบบ 100 เปอร์เซนต์ โดยข้อสอบโอเน็ตซึ่งออกโดย สทศ. ที่ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาออกข้อสอบ ซึ่งข้อสอบที่ได้ก็เป็นข้อสอบสำหรับการเรียนระดับอุดมศึกษา ซึ่งความจริงต้องเป็นข้อสอบสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนการเรียนการสอนก็ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการออกข้อสอบโอเน็ต เช่น ข้อสอบอัตนัย ข้อสอบแบบวิเคราะห์ ซึ่งข้อสอบที่ครูออกในโรงเรียนก็ต้องปรับให้สอดคล้องกัน ส่วนแรงจูงใจในการสอบของนักเรียนนั้น ค่อนข้างต่ำ แตกต่างจากในอดีตที่หากนักเรียนสอบได้คะแนนอันดับสูงลำดับต้น ๆ ของจังหวัดก็จะได้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยทันที เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments