เมื่อวันที่29เม.ย.2563 ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา(กกส.)เปิดเผยว่า ตนมีแนวคิดที่อยากจะนำเสนอ คือ กรอบภาพรวมค่าใช้จ่ายรายหัว ซึ่งจากที่ลองเอาอัตราเงินเฟ้อ 10 ปีย้อนหลังจากปี 2552-2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 1% กว่า ๆ สูงสุดไม่เกิน 2% มาคำนวณ ทั้งแบบคำนวณทีละปี และแบบเฉลี่ย 10 ปี ผลที่ได้คืออัตราเงินเฟ้อช่วง 10 ปีมานี้จะมีค่าเฉลี่ยจะอยู่ประมาณที่ 15.9-16.4 % เพราะฉะนั้นในความเห็นของตนน่าจะปรับค่าใช้จ่ายรายหัวตามอัตราเงินเฟ้อประมาณ 16% ขณะที่จีดีพีของประเทศเติบโต 42% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การจัดเก็บรายได้ของประเทศโตขึ้นประมาณ 25 % อย่างไรก็ตามเชื่อว่าต้องมีคำถามว่าถ้าปรับอัตราค่าใช้จ่ายรายหัวตามอัตราเงินเฟ้อจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งจากที่ดูข้อมูลขณะนี้ จำนวนนักเรียนที่อยู่ในระบบโรงเรียนทั้งหมดตั้งแต่ ป.2 – ม.6 ขณะนี้ มีจำนวนลดลง และยิ่งคาดการณ์ว่าในระยะ 6 ปีข้างหน้าจำนวนการเกิด จะลดลงถึง 22% เพราะฉะนั้นถ้าเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัว 16% ก็ไม่น่ากระทบมาก โดยอาจจะกระทบแค่ 3-4 ปีแรก ๆ หลังจากนั้นก็จะลดลงตามจำนวนเด็กอยู่แล้ว
“การคำนวณเงินอุดหนุนเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งล่าสุดประกาศใช้เมื่อปี 2552 แต่ก็เป็นตัวเลขที่คำนวณมาตั้งแต่ ปี 2545 แล้วมีการปรับเพิ่มขึ้นลดลงจนได้ประกาศใช้เมื่อปี 2552 และใช้มาถึงปัจจุบัน เท่ากับว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายรายหัวปัจจุบันเป็นตัวเลขเมื่อเกือบ 20 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นหากจะมีการปรับค่าใช้จ่ายรายหัวจริง ๆ ก็สามารถทำได้เลย ซึ่งถ้าปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ 16% จริง ๆ งบประมาณที่เพิ่มขึ้นก็เพิ่มไม่มากและจะทยอยลดลงด้วย เพราะตัวเลขจำนวนนักเรียนลดลง”เลขาธิการ กกส.กล่าว