เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2563 ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา(กกศ.) กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้สถานการณ์การแพ่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่การให้กลับมาเปิดภาคเรียนตามกำหนดเดิมในวันที่ 16 พ.ค. ทันที คงต้องยอมรับว่า ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยยังมีความเป็นกังวลและเป็นห่วงลูกหลาน ไม่อยากให้เด็กออกไปนอกบ้านถึงแม้เด็กจะมีร่างกายที่แข็งแรงก็ตาม ดังนั้นโดยส่วนตัวเชื่อว่าการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลจะต้องมีมากขึ้นแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองคือ เรื่องการดูแลการศึกษาของลูก ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วย
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า วันนี้ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาในรูปแบบทางไกลอยู่แล้ว โดยมีทั้งแบบสดกับแบบแห้งที่สามารถเรียนย้อนหลังได้ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม(DLTV)ของมูลนิธิการศึกษทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และDLIT ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่ระดับอุดมศึกษาก็จะมีการเรียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือทีวี หรือ การส่งโครงงาน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องดูคือ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่องสัญญาณ ซึ่งเข้าใจว่ามีครบชั้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ การจัดตารางเรียน ถ้าสามารถจัดได้ครบชั้น โดยมีครูและผู้ปกครองช่วยดูแล เชื่อว่าผลที่ออกมาจะดีแน่นอน แต่กรณีบ้านไหนมีลูกถึง2-3 คน แต่มีทีวีเครื่องเดียว จะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้รัฐจะต้องดูแลช่วยเหลือเรื่องการจัดตารางรีรันให้เหมาะสมด้วย
“DLTVสามารถเข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่ามากกว่า70%ไม่น่ามีปัญหา ยิ่งถ้าจัดระบบรีรันดีๆจะช่วยได้มาก อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า การเรียนผ่านทางDLTV เป็นการสื่อสารทางเดียว เพราะฉะนั้น คนจัดกิจกรมที่จะกระตุ้นให้เด็กคิดตาม หรือทำกิจกรรมต้องเก่งมาก ซึ่งครูต้องทำการบ้านให้มาก และต้องประสานกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองให้ช่วยดูแล และจัดกิจกรรม ที่สำคัญจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดตารางเรียนแบบเดียวกันทั้งประเทศ)ดร.สุภัทร กล่าว
ด้านนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า ในส่วนของอาชีวศึกษา เท่าที่ประเมิน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนด้วยระบบทางไกล หรือออนไลน์ ไม่มีปัญหา ขอเพียงให้เด็กมีตำราเรียนในมือก็สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ เพราะเด็กวัยนี้สามารถค้นคว้าด้วยตัวเองได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือเรื่องการฝึกปฏิบัติที่ต้องลงมือทำ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ก็ได้ประชุมเตรียมการไว้ว่าจะจัดตารางให้เด็กมาฝึกภาคปฏิบัติเป็นกลุ่มย่อย อาจจะไม่เกินครั้งละ 5 คน เพราะยังต้องรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 อยู่