เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันเด็ก ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดระบบให้โรงเรียนดำเนินการต่อเนื่องหลายสิบปี ความไว้วางใจอยู่ที่โรงเรียนต้องบริหารให้เป็นระบบ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ จะต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลในโรงเรียน ซึ่งมีระบบที่ทำกันมานาน ภายใต้งบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ แต่ในช่วงนี้ มีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม มีการทุจริต และการจัดซื้อวัตถุดิบที่ไม่มีการถ่วงดุลเกิดขึ้น ซึ่งโรงเรียนที่ดำเนินการไม่เหมาะสม สพฐ. ได้ดำเนินการสอบสวน และลงโทษทางวินัยอย่างเข้มงวด ส่วนใหญ่ขณะนี้ถูกสั่งให้ไปประจำส่วนราชการ หรือบางคนถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ถือว่าไม่มาก แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็ก
“โรงเรียนที่ถูกร้องเรียน เรื่องอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ และบริหารจัดการไม่โปร่งใส ขณะนี้มีประมาณ 12 โรงเรียน ใน 10 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คือ สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 จำนวน 1 โรงเรียน สพป.พิษณุโลก เขต 2 จำนวน 1 โรงเรียน จัดอาหารไม่ได้คุณภาพ แต่ไม่ได้ทุจริต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ( สพม.) เขต 5 จังหวัดสิงห์บุรี จำนวน 1 โรงเรียน อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า มีการทุจริตหรือไม่ สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 จำนวน 1 โรงเรียน กรณีให้นักเรียนกินขนมจีนคลุกน้ำปลา ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว สพป.นราธิวาส เขต 2 จำนวน 1 โรงเรียน ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนออกจากพื้นที่ฯ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแล้ว สพป.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 3 โรงเรียน มีการทุจริต สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ผู้อำนวยการโรงเรียนไปประจำยังเขตพื้นที่ฯ สพป.ลพบุรี เขต 2 จัดอาหารไม่ได้คุณภาพ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สพป.ขอนแก่น เขต 1 อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง และย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนออกจากพื้นที่แล้ว สพป.อ่างทอง ตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามที่ร้องเรียน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงไปทั้งหมด และถ้ามีมูลว่ามีความผิด ก็สั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่น หรือให้ไปประจำที่เขตพื้นที่ฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างเต็มที่ โดยล่าสุด ได้สั่งการด่วนให้ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภายใน และผู้อำนวยการสำนักคลัง สพฐ. ซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องระเบียบพัสดุและการเงิน ลงไปตรวจสอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น ที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก และ โรงเรียนจะใช้วิธิจ้างเหมา ด้วยวิธีประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บิดดิ้ง ว่า การใช้วิธีจ้างเหมาลักษณะนี้ทำได้หรือไม่ กระบวนการทำอี-บิดดิ้ง ทำอย่างไร สัญญาที่จ้าง มีรายละเอียดอย่างไร และกระบวนการตรวจรับเป็นอย่างไร คิดว่า ไม่นานจะได้ข้อมูลเบื้องต้น ตรงนี้ถือว่าสั่งการให้ลงไปตรวจสอบเป็นการภายใน และส่งชุดเฉพาะกิจลงไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง หากมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ไปปฏิบัติหน้าที่ยังเขตพื้นที่ฯ แล้ว เพื่อให้มีความสะดวกในการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังได้สั่งการไปยังผู้อำนวยการ สพท. ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบกระบวนการจัดสรรงบอาหารกลางวันของโรงเรียนทั่วประเทศ ถ้าพบว่า ไม่ดำเนินการตามกระบวนการที่ให้มีการถ่วงดุล ตรวจสอบ หรือไม่มีหลักฐานในการดำเนินการ ให้ถือเป็นความบกพร่องของผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย จากนี้สพฐ. จะมีความเข้มงวดและจริงจัง โดยจะเข้าไปควบคุมกระบวนการไม่ใช่ว่า รอให้มีการทุจริต แล้วจึงเข้าไปแก้ย้อนหลัง รวมถึงย้ำไปยังผู้อำนวยการสพฐ. อยู่ในพื้นที่ เพื่อควบคุมกำกับดูแลโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแต่เรื่องอาหารกลางวันเท่านั้น แต่รวมถึงความผิดอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วย ทั้งนี้เรื่องอาหารกลางวัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญมาก กับการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการอาหารกลางวัน แม้บางคนระบุว่า บางพื้นที่วัตถุดินแพง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไก โปร่งใสถูกต้อง หากพื้นที่ใดเด็กได้ปริมาณอาหารน้อย เป็นเรื่องที่เราต้องคิดแก้ไข สพฐ.มีนโยบาย ส่งเสริมงานเกษตรในโรงเรียนมานานแล้วว่าโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าวัตถุดิบในการประกอบอาหารราคาแพง โรงเรียนจะต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้นักเรียนใช้เวลา ชั่วโมงการงานและพื้นฐานอาชีพ มาปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา หมุนเวียนเข้าระบบสหกรณ์ ส่งต่อไปยังอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งเรามีตัวอย่างโรงเรียนลักษณะนี้จำนวนมาก หรืออีกตัวอย่างที่เริ่มดำเนินการในโรงเรียนที่มีพื้นที่จำกัด ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ชุมชนปลูกผัก เลี้ยงไก่ ส่งขายโรงเรียนในราคาถูก เข้าระบบสหกรณ์ เข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน เป็นต้น ส่วนการสำรวจ การโอนเงิน ภาพรวมแม้จะโอนเงินล่าช้าบ้างในบางพื้นที่ แต่ก็พบว่า บางโรงเรียนแก้ปัญหา โดยใช้เงินอุดหนุนมาดำเนินการจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียน ไม่ได้มีปัญหามากนักในทางปฏิบัติแต่ต้องพัฒนาระบบงบประมาณร่วมกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีความสะดวกในการดำเนินการ