ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า เนื่องด้วยวันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงได้รับการยกย่องเชิดชูว่าเป็น เจ้าฟ้านักอ่าน ด้วยทรงให้ความสำคัญกับการอ่าน และการรู้หนังสือ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาชาติ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้วันดังกล่าว เป็น “วันรักการอ่าน” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านอีกด้วย 

สำนักงาน กศน.มีห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” แห่งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 100 แห่ง นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดประชาชนจังหวัด/อำเภอ ให้บริการแก่ประชาชนอีกกว่า 900 แห่ง ซึ่งสำนักงาน กศน.และหน่วยงานในสังกัดได้ปฏิบัติงานตามโครงการพระราชดำริของพระองค์ในภารกิจด้านการส่งเสริมการอ่าน และส่งเสริมการรู้หนังสือมาโดยตลอด โดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษา ส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาให้คนไทยมีความสามารถในด้านการอ่าน และมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงาน กศนร่วมกับพื้นที่ขยายผลจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้มีชีวิตมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Co-Learning Space โดยการปรับปรุงห้องสมุดในแต่ละพื้นที่ให้มีการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด ทั้งในด้านพื้นที่และกิจกรรม โดยยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (anytime) เรียนได้ในทุกพื้นที่ (anywhere) มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้แก่  อินเทอร์เน็ต wifi เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งหนังสือใหม่ ๆ ที่สามารถอ่านที่ห้องสมุดและยืมไปอ่านที่บ้าน มุมกิจกรรมต่าง ๆ มุมเด็ก มุมผู้สูงอายุ มุมสร้างสรรค์ และมุมที่สามารถนั่งทำงานได้ เพิ่มเวลาในการเปิดให้บริการ บริหารจัดการในเรื่องของเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสนับสนุนองค์ความรู้ ตลอดจนหนังสือใหม่ ๆ ด้วย

Co – Learning Space จะเริ่มต้นนำร่องในห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ ณ ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ใน 6 จังหวัดก่อน ได้แก่ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สงขลา กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ โดยประชาชนในแต่ละชุมชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์และความแข็งแกร่งของชุมชนชนในอนาคต มั่นใจว่าจะทำให้ห้องสมุดประชาชนธรรมดากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกช่วงวัย ส่งเสริมให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรมพื้นถิ่น เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา การจัดการความรู้ ตลอดจนองค์ความรู้ของท้องถิ่นและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อให้คนไทยได้รับการพัฒนาความสามารถในการอ่านและการรู้หนังสืออย่างต่อเนื่องและทั่วถึง สนองตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เจ้าฟ้านักอ่าน” อย่างเต็มที่ ให้ดีที่สุด  

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments