จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า  โควิด-19  ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับการประสานผ่านทางผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชน และครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ ในการหาทีมงานช่วยผลิตอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ ให้แก่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งทางวิทยาลัยได้ตั้งทีมคณะทำงาน ไปหารือร่วมกับ ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณะบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล  มหาวิทยาลัยนมินทราธิราช เพื่อร่วมกันพัฒนาถุงคลุมผู้ป่วยต้นแบบที่ทางทีมแพทย์ผลิตขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่หากไม่มีการป้องกันที่รัดกุมก็อาจจะแพร่เชื้อได้ โดยคณะทำงานได้ร่วมกับทีมแพทย์ตรวจหาจุดอ่อนของถุงคลุมผู้ป่วยต้นแบบ ซึ่ง พบว่า  วัสดุที่ใช้ทำถุงคลุมผู้ป่วยไม่ทนทาน ฉีกขาดง่าย อุปกรณ์ยึดติด (ตีนตุ๊กแก) ติดไม่สะดวก   แรงดูดอากาศแรงเกินไป จนเกิดสุญญากาศ  และ ไม่มีช่องให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวว่า คณะทำงาน ที่มี นายชำนาญ  แสงทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา เป็นหัวหน้า ได้ทำการศึกษาและหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับพัฒนารูปแบบใหม่จนได้ ชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ ต้นแบบของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา และนำกลับไปทดสอบกับทีมแพทย์ แล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของวิทยาลัยในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อช่วยนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตไวรัส โควิด-19 ไปได้

“ชุดอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นนี้ ใช้ได้กับผู้ป่วยโควิด -19 และผู้ป่วยติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ โดยชุดอุปกรณ์นี้ที่ทางวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทราร่วมพัฒนาขึ้นมานี้ มีราคาประมาณชุดละ 5 หมื่นบาท ขณะที่หากเป็นการนำเข้าจะมีราคาสูงถึงกว่า 5 แสนบาท  โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อขอให้วิทยาลัยช่วยผลิตชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure นี้แล้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ชุด โดยเฉพาะถุงคลุมผู้ป่วยแบบแรงดันลบ ที่มีความต้องการสูง  โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ซึ่ง ได้แก่ ผ้าใบชนิด HDPE  แถบกุ๊น ซิป จากกลุ่มจิตอาสา และถุงมือ จากทางปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น”ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรากล่าวและว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะทำงานของวิทยาลัยฯ กำลังเร่งพัฒนาชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments