นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำสถานศึกษาต้องเร่งพัฒนาคน การจะปฏิรูปการศึกษาสิ่งสำคัญที่สุดคือความชัดเจน เช่น มีข่าวการสอบคัดเลือกเด็กอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1 การสอบภาษาอังกฤษเด็ก ป.3 ต้องไปพิจารณาใคร่ครวญดูว่า ทำแล้วเกิดประโยชน์อะไรหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มกับที่ทำและเสียประโยชน์ ทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อน ก็ยกเลิกไป หาวิธีการอื่น ว่า สิ่งที่นายกฯ พูดถือว่าถูกต้อง การจัดการศึกษาทั้งระบบจะต้องสอดคล้องกัน ที่ผ่านมาการศึกษาของบ้านเรายังมาไม่ถูกทาง การให้เด็กสอบเข้า ป.1 สอบภาษาอังกฤษป.3 หรือให้เด็กกวดวิชามากเกินไป ต้องกลับไปคิดว่าหลักการของการจัดการศึกษาจริง ๆ คืออะไร เราต้องการอะไร
“อนาคตการเรียนการสอน จะต้องไม่เน้นวิชาการ แต่ควรเน้นทักษะและสมรรถนะ เพราะเนื้อหาวิชาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะที่ปัญหาสำคัญ คือ ครูส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักคิดที่ถูกต้องของความเป็นครู ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับทัศนคติของครูทั้งประเทศ ว่า อนาคตการเรียนในห้องเรียนต้อง ลดลง ศธ.ต้องปรับบทบาท เพราะ ศธ. ไม่ได้เป็นเจ้าของการจัดการศึกษา แต่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตั้งแต่รัฐบาล ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่ต้องจัดสรรงบประมาณ ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องมองภาพใหญ่ให้ได้ก่อนว่า ทิศทางการเรียนการสอนของประเทศทั่วโลกเป็นอย่างไร
นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ส่วนปัญหาการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยระบบทีแคสนั้น เท่าที่ฟัง นายกฯ ชื่นชมว่า เป็นระบบที่มีหลักการดีสามารถแก้ปัญหา ให้เด็กอยู่ในห้องเรียน จนจบหลักสูตร ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ซึ่งระบบเดิมผู้ปกครองบางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นแสน แต่ระบบทีแคส ค่าใช้จ่ายในการสมัครมากสุดไม่เกิน 6-7 พันบาท และที่สำคัญไม่ให้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเอง ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ถือเป็นครั้งแรกของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เปิดคะแนนให้เด็กได้เห็น ข้อผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้ทางทปอ. จะต้องไปปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น ซึ่งตนได้พูดคุย กับทปอ. และได้มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เบื้องต้น จะต้องแยกกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ออกมา เพราะเห็นแล้วว่า ทำให้เกิดปัญหาการกั๊กที่นั่ง และปรับให้แจ้งคะแนนเฉพาะตัวเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียน ส่วนที่กังวลว่าการแจ้งคะแนนเฉพาะเด็กจะไม่โปร่งใสเป็นธรรมนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่จริง เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ระบบเอนทรานซ์ ไม่เคยมีการแจ้งคะแนนมาก่อน รวมถึงจะต้องกระชับเวลาการรับสมัครแต่ละรอบให้สั้นลง โดยทั้ง 5 รอบไม่ ควรเกิน 2 เดือน
“ปัญหาเกิดขึ้นไม่ถึง 10% แต่เป็นเพราะข้อผิดพลาดที่เกิดจากการสื่อสารผ่านโซเชียล ทำให้เรื่องต่าง ๆ กระจายไปอย่างรวดเร็ว ยืนยันว่า ทีแคสเป็นระบบที่ดี แก้ปัญหาทั้งระบบเอนทรานซ์ และระบบ การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์เดิม ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม แต่เราต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น “นพ.อุดมกล่าว