เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)เปิดเผยว่า นายอำนาจ  วิชานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยในเรื่องของการจัดสรรตำแหน่งลงในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่ให้จัดสรรอัตรากำลังลงในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ให้ยุบตามอัตราเกษียณ แต่ขณะนี้การควบรวมโรงเรียนก็ยังไม่เป็นไปตามแผนเดิมทำให้ครูขาด ดังนั้นสพฐ. จึงได้มาเสนออัตราครูที่เหมาะสมเพื่อจัดสรรลงไปให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก  เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียน 40 คน 80  คน ควรต้องมีครูจำนวนเท่าไร เพื่อให้เพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ส่วนการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ตนไม่ได้มองที่ตัวเลขควบรวมได้มากหรือน้อย แต่มองถึงคุณภาพและประโยชน์ของเด็กที่จะต้องได้รับตามสิทธิของเขาต่างหาก

ด้าน ดร.อำนาจ กล่าวว่า  ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในเรื่องการจัดสรรอัตรากำลังครูให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากมติครม.ไม่ให้จัดสรรอัตรากำลังลงไปในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน แต่ที่ผ่านมาการควบรวมไม่ได้เป็นไปตามแผน หากไม่จัดสรรลงไปให้การจัดการเรียนการสอนก็จะมีปัญหา โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกล ที่อยู่โดดเดี่ยว โดยเบื้องต้น กำหนดแผนการจัดสรรอัตราครูต่อจำนวนนักเรียนไว้แล้ว เตรียมเสนอให้ก.ค.ศ.พิจารณา และให้เสนอครม. เห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ไม่ได้ห่วงว่าจะต้องควบรวมโรงเรียนให้ได้ตามแผน แต่ห่วงเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ดีขึ้น  ทั้งนี้สพฐ. มีโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด 29,871 โรงเรียน โดยข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่ปี2559 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีโรงเรียนที่ถูกยุบแล้วจำนวน 1,000 แห่ง

เลขาธิการกพฐ.กล่าวอีกว่า และเมื่อเร็ว ๆ นี้ รมว.ศึกษาธิการได้ลงพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบว่า มีหลายโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน การคมนาคมสะดวก สามารถควบรวมกันได้ แต่จะต้องทำให้เกิดคุณภาพ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ไปตรวจสอบ ว่าในพื้นที่มีโรงเรียนลักษณะดังกล่าวจำนวนเท่าไร  เพื่อดำเนินการควบรวม แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากชุมชน ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้สพฐ.ไปพัฒนาโรงเรียนหลักที่จะไปควบรวมให้ดี มีคุณภาพ  ให้เด็กอยากไปเรียน โดยให้ทำเป็นต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งสพฐ. ก็จะลงไปดู คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ 1-2 แห่ง เพื่อจัดสรรงบฯลงไปพัฒนาลงไปใส่เพื่อดูดให้เด็กอยากเข้ามาเรียนโดยไม่ต้องบังคับ

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments