เมื่อวันที่ 24 ม.ค.63 นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัญหาความซ้ำซ้อนกันของการแต่งตั้งบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. ) ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน และ ข้าราชกาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นบุคลากรที่ขึ้นตรงกับ สพฐ. แต่ขณะนี้แต่งตั้งโยกย้ายโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติในหลักการว่า บุคลากรของหน่วยงานใด ก็ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดนั้นเป็นผู้มีอำนาจ เลื่อน ลด ปลด ย้ายได้ ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือ ให้ สพฐ.เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายได้ แต่การโยกย้ายนั้น จะให้พิจารณาในภาพรวมระดับจังหวัด อาทิ จังหวัดที่มีเขตพื้นที่ 8 เขต ก็ให้พิจารณาโยกย้ายครู ผู้บริหารกันข้ามเขตพื้นที่ได้ภายในจังหวัด กรณีที่ย้ายข้ามจังหวัดให้เสนอเรื่องมาที่ส่วนกลางเป็นผู้พิจารณา
ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.) และ สพฐ. ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาเนื้องานต่างๆ โดยให้พิจารณาว่า งานใดที่ชัดเจนและเป็นงานของ กศจ. และ งานใดที่เป็นงาน ของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ส่วนงานที่มีความทับซ้อนกันระหว่าง กศจ.กับ สพท. หรือกลุ่มงานสีเทาที่ไม่สามารถแบ่งกันได้อย่างชัดเจน ให้คณะทำงานฯ นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ. ให้เป็นผู้พิจารณาตัดสิน โดยให้คณะทำงานฯเสนอกลับมาทั้งส่วนงานที่แบ่งกันได้อย่างชัดเจนแล้ว และงานที่ทับซ้อนกัน ในการประชุมครั้งหน้า เพื่อหาทางออกร่วมกันในที่ประชุมวันที่ 31 ม.ค.นี้ ซึ่งตนเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
“กรณีที่ สพฐ.เสนอรูปแบบการปรับโครงสร้าง สพฐ. ให้มี อ.ก.ค.จังหวัดนั้น ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่า ไม่ได้ทำให้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรจบลง ควรเป็นการพิจารณาในภาพรวมระดับจังหวัดและอยู่ภายในองค์กรของ สพฐ. น่าจะดีกว่า” นายวราวิช กล่าวและว่า ทั้งนี้หากทุกอย่างลงตัวเป็นมติที่ประชุมแล้ว หากมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบรวมไปถึงการเสนอแก้ไขคำสั่ง คสช. ก็จะดำเนินการต่อ เพราะครม.มีมติไว้ให้หน่วยงานเสนอเรื่องขอยกเลิกคำสั่ง คสช.ได้ ที่ประชุมก็จะเสนอเรื่องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ส่วนจะใช้เวลาแค่ไหนก็ขึ้นกับขั้นตอนการพิจารณาตามครรลองของกฎหมายต่อไป