นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ที่เป็นภารกิจสำคัญของกอปศ.ที่ต้องดำเนินการ แปลสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีหลายขั้นตอน และขั้นตอนที่จะเกิดขึ้น คือร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สภาการศึกษาทำหน้าที่เลขานุการ ทำหน้าที่ดูแลการศึกษาเชิงมหภาค ทำการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) การศึกษา ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็กำหนดสอดคล้องตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น แต่รัฐก็ยังมีหน้าที่จัดการศึกษาแก่ทุกคน ,กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีหน้าที่จัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษาในท้องถิ่นตนเอง
นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรในร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียด แต่ในหลักการอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นกลไกที่ใหญ่ขึ้น เพราะต้องรองรับจำนวนคนนอกระบบการศึกษาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ครอบคลุมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ การยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ บางเรื่องยังอ้างอิงกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แต่เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องก็จำเป็นต้องยกร่าง และต้องไปดูกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.จะนำร่างพ.ร.บ.ไปประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากเครือข่ายเยาวชนทุกระดับและประเภทการศึกษา และในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะจัดประชุมร่วมกับสมัชชาการศึกษาถึงความคาดหวังในการปฏิรูปการศึกษาด้วย
ส่วนการดูแลเด็กด้อยโอกาส พิการ นั้น ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือการเห็นความจำเป็น ของคนกลุ่มน้อย ยากจน พิการทางกาย พิการทางจิต เรียนช้า รวมถึงคนที่มีความสามารถพิเศษที่สามารถเรียนได้เร็ว ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดูแลแยกแต่ละส่วน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เรายังไม่ได้พูดถึงมากนัก เพราะมีข้อกำหนดหลายมาตราที่จะต้องดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าว ต้องไปแปลเพื่อนำมาเขียนไว้ในธรรมนูญการศึกษา ว่าจะมีกลไกและกฎหมายอะไรมารองรับ และจะเน้นเรื่องใดบ้าง ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญเด็กกลุ่มนี้ด้วย
ด้านดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นมีทั้งสิ้น 7 หมวด 83 มาตรา ซึ่งต่างจากพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับเดิม ดังนี้ 1.หมวดหน้าที่ของรัฐด้านการศึกษา 2.หมวดสิทธิและหน้าที่ 3.การจัดการศึกษา 4.ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาและกิจกรรมการเรียนรู้ 5.การพัฒนาและกำกับดูแลระบบการศึกษา 6.แผนการศึกษาแห่งชาติและทรัพยากรการศึกษาและการเรียนรู้ และ7.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหมวดใหม่ที่จะมากำหนดระบบจัดการศึกษาที่จะออกมาในอนาคต
ส่วนประเด็นอำนาจหน้าที่ของ อปท. จะชัดเจนขึ้น โดยให้มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ สนับสนุนงบประมาณ จัดบริการทางการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของรัฐและเอกชนได้ พัฒนาแหล่งศึกษาเรียนรู้การศึกษาตามอัธยาศัยที่หลากหลายได้ ซึ่งที่ผ่านมาในเรื่องงบประไม่ได้กำหนดชัดเจน การทำงานจึงก้ำกึ่งว่าทำได้หรือไม่ได้