เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เปิดเผยว่า จากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการ และต่อยอดทักษะอาชีพ หรือเสริมทักษะอาชีพ (Multi Skill) และจุดเน้นและทิศทางของการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 R excellent’63 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ขับเคลื่อนโครงการวิทยาลัยสารพัดช่างเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ทักษะเฉพาะกลุ่มอาชีพ เพื่อดำเนินการในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยให้สถานศึกษาประเภทวิทยาลัยสารพัดช่าง 52 แห่ง ทั่วประเทศ ดำเนินการ Re-Skills, Up Skill และ New Skill จัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาวิทยาลัยแบบเฉพาะทาง ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้เข้ารับบริการได้รับการฝึกอบรม ทักษะ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงทันทีหลังจบการฝึกอบรม โดยมีเป้าที่ 16,770 คน และจะเริ่มดำเนินการเปิดสอนในปีการศึกษา 2563 นี้
รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพื้นที่ ความต้องการของสถานประกอบการ และความต้องการประกอบอาชีพอิสระ Demand และ Supply รวมถึงวิธีการได้มาของ กลุ่มผู้เข้ารับการอบรม และทรัพยากรที่วิทยาลัยสารพัดช่างมีอยู่ นั้น สอศ.พบ 10 กลุ่มอาชีพที่น่าสนใจ และจะดำเนินการขับเคลื่อน ซึ่งประกอบด้วย 1.กลุ่มอาหารและโภชนาการ ซึ่งมีไฮไลท์อยู่ที่อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค รวมไปถึงอาหารอิสลามสำหรับผู้สูงวัย 2.กลุ่มอาชีพเสริมสวยครบวงจร 3.กลุ่มอาชีพช่างยนต์ ที่มองถึงอนาคตเน้นระบบยานยนต์สมัยใหม่ โดยผลิตช่างตรวจสอบเครื่องยนต์ระบบหัวฉีดและยานยนต์ไฟฟ้า 4. กลุ่มอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ อินเทรนด์ไปกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย ซึ่งอาชีพการบริบาลผู้สูงอายุ เป็นที่ต้องการจำนวนมากและขาดแคลน 5. กลุ่มอาชีพช่างควบคุมหุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นช่างควบคุมหุ่นยนต์แขนกล หุ่นยนต์คัดแยกจัดเก็บผลิตภัณฑ์ 6. กลุ่มอาชีพช่างไฟฟ้า เช่นช่างไฟฟ้าติดตั้ง ซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือน 7. กลุ่มอาชีพนักดนตรี บันเทิง อีเว้นท์ ออแกไนเซอร์ มืออาชีพ 8. ช่างพัฒนาโปรแกรม internet of Thing ในโครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ช่างควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน 9. กลุ่มอาชีพท่องเที่ยว การจัดการธุรกิจและจำหน่ายสิ้นค้าออนไลน์ มัคคุเทศก์และภาษาเพื่อการท่องเที่ยว และ10.กลุ่มอาชีพนวด สปา ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพระยะสั้นยอดนิยมทำรายได้ตลอดกาล ทั้งนี้สำหรับหลักสูตรระยะสั้นนั้นทางสถานศึกษาสามารถปรับปรุงหลักสูตรได้โดยสถานศึกษาเอง และยังสามารถเชื่อมโยงมาตรฐานอาชีพ กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ “รองเลขาธิการ กอศ.กล่าว