เมื่อวันที่ 6 มกราคม นางสุกัญญา สุดบรรทัด ประธานกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่า ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำคำศัพท์นิเทศศาสตร์ โดยระดมสมองทั้งราชบัณฑิต นักวิชาการ และนักวิชาชีพด้านนิเทศศาสตร์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลา 4 ปี มีประมาณ 1,000 คำ ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ราชบัณฑิตยสภายังไม่ได้บัญญัติและให้ความหมายในภาษาไทยมาก่อน เช่น คำว่า platform ฐานช่องทาง, ฐานงาน : บริการ เว็บไซต์ หรือวิธีการทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่ ส่งสื่อไปยังผู้รับสารในยุคที่พลิกผันจากระบบสื่อสารมวลชนดั้งเดิม โดยผู้รับสามารถส่งกลับ ส่งต่อ หรือแบ่งปัน เนื้อหาได้ ในระบบออนไลน์โปรแกรมทำหน้าที่เป็นตัวกลางการสื่อสารที่ทำให้สามารถพัฒนา สร้างสรรค์ จัดการ และให้บริการ ตลอดจนเชื่อมต่อระหว่างโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ ได้ คำว่า podcasting พ็อดคาสติง : การจัดเตรียมข้อมูลภาพและเสียง เพื่ออัพโหลดบนอินเทอร์เน็ต สำหรับบริการแก่สมาชิกผ่านอุปกรณ์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ตามความต้องการส่วนบุคคล
นางสุกัญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีคำว่า disruptive communication การสื่อสารพลิกผัน, การสื่อสารภังควิวัฒน์ : การที่ สภาวการณ์ วิสัยทัศน์ และกรอบความคิดทางการสื่อสาร ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีซึ่งแทรกเข้ามากีดขวาง ระบบการสื่อสารของมนุษย์จนหยุดชะงัก ไม่ให้เคลื่อนไปตามทิศทางเดิม เป็นการล่มสลายของระบบเก่าที่มีเค้า เดิมอยู่แต่ก็สร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่รวดเร็วและพลิกไปสู่สภาวการณ์การสื่อสารใหม่
“สำหรับกรรมการจัดทำ พจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสภามีราชบัณฑิต 3 คน เป็นกรรมการและที่ปรึกษา กรรมการประกอบด้วย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน มีนักวิชาการด้านหนังสือพิมพ์ด้านโฆษณา ด้านภาพยนตร์ ด้านสื่อสารการตลาด นอกจากนี้ ในการประชุมบางครั้งยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชามา ให้ความเห็นด้วย คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ ฯจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ฯใช้เวลาประชุม 98 ครั้ง ในเวลา 4ปี ซึ่งเมื่อได้จัดทำต้นฉบับและทบทวนแก้ไขแล้วจะให้จัดพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไป”นางสุกัญญากล่าว