ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ รัฐบาล และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาอย่างมาก โดยได้มอบเป็นนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ให้มาวิธีทำให้เด็กหันมาสนใจในการเรียนสายอาชีพ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษา นั้น สพฐ.มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเชิงปริมาณนั้นเราต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมให้เด็กก้าวเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษามากที่สุด ซึ่งต้องมีการทำแผนร่วมกันระหว่าง สพฐ.กับ สอศ.ในพื้นที่ ทั้งนี้ต้องให้ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)เป็นหน่วยงานกลางในการทำแผนร่วมด้วย ขณะที่ส่วนกลางทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ.และสอศ.ก็ต้องประสานและวางแผนร่วมกันเช่นกัน
“ความหมายของผม คือ แต่ละพื้นที่มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่หลากหลาย ทั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยสารพัด วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละสถานศึกษาก็จัดการเรียนการสอนในสาขาที่แตกต่างกัน ขณะที่ผู้ปกครองปัจจุบันก็ยังมีค่านิยมที่จะส่งลูกหลานเรียนสายสามัญมากกว่าอาชีพอยู่ ดังนั้น สอศ.ก็ต้องสร้างแรงจูงใจที่เพียงพอจะให้เด็กเหล่านี้เข้าไปเรียน ต้องการันตีให้ได้ว่าจะมีงานทำในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมาทำแผนร่วมกัน แต่การจะให้ สพฐ.ผลักไสไล่ส่งให้เด็กไปเรียนที่อื่นคงไม่สามารถทำได้ เพราะ สพฐ.ก็มีแผนการรับนักเรียนอยู่แล้ว เราก็ต้องรับตามแผน เว้นแต่เด็กไม่ครบตามแผนเราก็ต้องมาจัดการเรียนการสอนเท่าที่มี”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ดร.อำนาจ กล่าวอีกว่า การทำงานต้องมีการวางแผนและจัดระบบการทำงานทั้งระบบ โดย สอศ.เองต้องรู้ว่า แต่จังหวัด วิทยาลัยในสังกัดเปิดสอนสาขาวิชาอะไรที่เป็นแรงจูงใจ ที่เป็นความต้องการตอบโจทย์ความของต้องการของเด็กในพื้นที่ ส่วน สพฐ.ก็ต้องส่งเสริมความเป็นเลิศของเด็กที่เรียนสายสามัญไปตามปกติ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานต้องดูความจำเป็นของตัวเอง จะผลักใสไล่ส่งโดยผู้ปกครองให้ขาดความมั่นใจไม่ได้ แต่ต้องสร้างแรงจูงใจและประชาสัมพันธ์ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการแนะแนว สอศ.ต้องแนะแนวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ป.5 ป.6 ม.1-3 เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างการับรู้ โดย สพฐ.ยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ สอศ.มาร่วมแนะแนวกับ สพฐ.