เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนอุดมศึกษาไทยไปสู่อนาคต โดยการประชุมได้หารือเพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายระหว่างนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐกับรมว.อว. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

โดย รมว.อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า กระทรวง อว.เป็นกระทรวงใหม่ การเตรียมพร้อมไปสู่ศตวรรษที่ 21 นั้น เราจะต้องมีการจัดทัพใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์การเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่าโดยใช้นวัตกรรมเป็นสำคัญ ภารกิจของกระทรวงที่สำคัญมี 3 ประการ คือ การสร้างและพัฒนาคน การสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย ในทิศทางที่ตอบโจทย์ประเทศ ภาคเอกชน ชุมชนและประเด็นที่ท้าทายของโลก และการสร้างนวัตกรรม
การสร้างคน สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของประเทศคือคน นั่นก็คือการเน้นการเปลี่ยนภาระกิจที่แต่เดิมเป็น Higher Education มาเป็น Life Long Education ดูแลคนตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึงตลอดชีวิต โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มบัณฑิต ทำอย่างไรในสถานการณ์ที่จำนวนผู้เรียนน้อยลงแต่ต้องผลิตบัณฑิตออกมาอย่างมีคุณภาพ และมีงานทำ กลุ่มกำลังแรงงาน ซึ่งมีมากกว่า 38 ล้านคน คนเหล่านี้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยี และกลุ่มคนสูงวัย เราจะเตรียมความพร้อมให้เป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพ อุดมศึกษาเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่เป็น brain power เราจะสร้าง รักษา และใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนที่เป็นพลังสมองในภาคอุดมศึกษาอย่างไร
การสร้างองค์ความรู้ ผ่านงานวิจัย แต่งานวิจัยที่เรามียังไม่สามารถที่จะทำให้เกิด impact อย่างเต็มที่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมหาวิทยาลัยต่างคนต่างทำงานวิจัย ไม่มีพลัง ไม่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือเกิดเป็นนวัตกรรมได้ กระทรวง อว. จึงตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านการวิจัย ทำให้เกิดการวิจัยอย่างเป็นระบบตอบโจทย์ประเทศ โดยการแบ่งการวิจัยออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การวิจัยที่จะสร้างคนและองค์ความรู้แบบ frontier knowledge ที่จะตอบโจทย์ประเทศ 2.การวิจัยที่จะเพิ่มระดับขีดความสามารถของประเทศ แข่งขันในระดับโลก 3.การวิจัยเพื่อลดความเลื่อมล้ำผ่านการพัฒนาพื้นที่และการสร้างเศรษฐกิจฐานราก และ4.การวิจัยจากโจทย์ประเด็นท้าทายที่มีในสังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สังคมสูงวัย pm 2.5 ขยะ เป็นต้น

“การสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดัน BCG Model โดย B (Bio Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C (Circular Economy) หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G (Green Economy) หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งครอบคลุมด้าน เกษตรอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและวัสดุชีวภาพ และการท่องเที่ยวโดยอาศัยความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน BCG จากนี้ไปการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าจะใช้องค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา
พันธกิจของมหาวิทยาลัยคือการสร้างคน การสร้างคนที่มีคุณภาพเงื่อนไขสำคัญคือธรรมาภิบาล น้ำหนักจะต้องอยู่ที่คุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่ความเก่งแต่เพียงอย่างเดียว”รมว.อว.กล่าวและว่า ขณะเดียวกันสิ่งที่เราจะเน้นไม่ใช่ขีดความสามารถเพียงเท่านั้นแต่ต้องลดความเลื่อมล้ำในเวลาเดียวกันไปด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments