ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ. ลงนามในหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา(สพป.)ทุกเขต เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน และรายงานข้อมูลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและเลขาธิการ กพฐ.ภายในวันพุธที่ 13 มิ.ย.61 ดังนี้ 1. สำรวจการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันจากทุกโรงเรียนเฉพาะภาคเรียนที่1/2561 ดังนี้ 1.1 โรงเรียนได้รับโอนเงินงบประมาณจัดสรรค่าอาหารกลางวันสำหรับภาคเรียนที่ 1 /2561หรือยัง กรณีที่ได้รับช้ากว่าวันเปิดภาคเรียนได้รับเมื่อใด. หรือถ้ายังไม่ได้รับการโอนเงินงบประมาณ โรงเรียนดำเนินการอย่างไร (กรณีที่ได้รับงบประมาณช้าหรือยังไม่ได้รับโอนเงินงบประมาณ ให้ระบุด้วยว่าโรงเรียนนั้นๆอยู่ในพื้นที่ที่ต้องได้รับจัดสรรและโอนงบประมาณจากหน่วยงานใด ระบุอำเภอและจังหวัดด้วย 1.2 กรณีงบประมาณโอนช้าหรือยังไม่ได้รับการโอนงบประมาณ โรงเรียนได้จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนหรือไม่. ถ้าจัดอาหารกลางวันมีวิธีการในการบริหารหรือจัดหางบประมาณมาดำเนินการอย่างไร 1.3 ให้รายงานข้อมูลตามข้อ 1.1 และ 1.2 โดยให้ทุกเขตพื้นที่และสายงานการศึกษาพิเศษรวบรวมข้อมูลส่งที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมเขต1 ของทุกจังหวัด และให้ผอ.สพป.เขต 1 รายงานข้อมูลผวจ.และเลขาธิการกพฐ. ภายในวันที่13 มิ.ย.61 ซึ่ง สพฐ.จะรวบรวมข้อมูลรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร็ว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า 2. ให้ ผอ.สพท.และผู้บริหารสายงานการศึกษาพิเศษ รายงานการสำรวจสภาพการดำเนินการอาหารกลางวันที่สพฐ.ที่ได้สั่งการแล้วให้ติดตาม ตรวจสอบทุกโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.61 โดยให้รายงานภายในวันที่ 13 มิ.ย.61 เช่นเดียวกัน โดยประเด็นการรายงานมีดังนี้ 2.1 จำนวนโรงเรียนในเขตพื้นที่ 2.2 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวัน 2.3 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ก่อนวันที่ 16 พ.ค.61 2.4 จำนวนโรงเรียนที่ ได้รับการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันแล้วแต่หลังวันที่ 16 พ.ค.61 2.5 จำนวนโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการโอนเงิน ณ วันที่ 11มิ.ย.61 2.6 จำนวนโรงเรียนที่ถูกร้องเรียนและปรากฎข่าวในสื่อมวลชน และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีมูลหรือไม่มีมูล 2.7 จำนวนโรงเรียนที่ตรวจสอบแล้ว มีปัญหาการดำเนินการกี่โรงเรียน สพท.ได้แก้ปัญหาอย่างไร. 2.8 จำนวนโรงเรียนที่ดำเนินการได้ดีสมควรยกย่องชื่นชมให้เป็นต้นแบบ พร้อมแนวทางที่เป็นความสำเร็จของแต่ละโรงเรียน และ 3.ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการอาหารกลางวันจากโรงเรียน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง
” ให้ทุกโรงเรียนตรวจสอบงบประมาณอาหารกลางวัน ภายใน 3 วัน ซึ่งต้องการรู้ว่าได้ก่อนเปิดเทอม หลังเปิดเทอมถึงตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่ โดยที่ให้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ว่า พบโรงเรียนมีปัญหากี่โรง สภาพปัญหาเป็นอย่างไร โรงเรียนดีเด่น เหมาะเป็นต้นแบบมีกี่โรง เพราะตอนนี้มีข้อมูลร้องเรียนเข้ามามาก บางเรื่องจริง บางเรื่องไม่จริง ในไลน์มีครูตัดพ้อว่าที่ผ่านมาเขาพยายามทำเต็มที่ บางทีเปิดเทอมยังไม่ได้เงินก็แก้ปัญหาไปก่อน ดังนั้น สพฐ.ต้องการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลแท้จริงแล้วจะได้แก้ไขต่อไป”นายบุญรักษ์ กล่าว