เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ดร.กนกวรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ลงพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาเด็กเร่ร่อน ร่วมกับเครือข่ายดูแลเด็กเร่ร่อน และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ซึ่งสำนักงาน กศน.ได้ส่งเสริมการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545) มาตรา 22 ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และผู้เรียนพัฒนามีความสําคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ รวมถึงสิทธิเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยมีพื้นที่ดําเนินการในสถานศึกษา สังกัด กศน. 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย นครราชสีมา ภูเก็ต ยะลา สงขลา สุราษฎรธานี อุดรธานี อุบลราชธานี ระยอง สกลนคร และ เชียงใหม่
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เด็กเร่ร่อนในย่านหัวลำโพง มีทั้งที่มาเร่ร่อนตามลำพังและเป็นกลุ่ม ซึ่งมีประมาณ 50 คน ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยเป็นเด็กชายประมาณ 80% ซึ่งมาจากภาคอีสานมากที่สุด นอกจากนี้ยังอยู่กันเป็นครอบครัวประมาณ 50 ครอบครัว โดยพักอาศัยอยู่รอบ ๆ หัวลำโพง เพื่อทำงานรับจ้างทั่วไป สำหรับเด็กส่วนใหญ่จะไม่ได้เรียนหนังสือในระบบ แต่ก็มี กศน.เขตปทุมวัน ส่งครูสอนเด็กเร่ร่อนหรือเด็กด้อยโอกาสไปจัดการเรียนการสอนให้ในวันจันทร์และวันพฤหัส ช่วงเวลา 10.00-12.00 น. ขณะเดียวกันก็มีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยอย่างไรก็ตามสำหรับสาเหตุที่เด็กออกมาเร่ร่อน พบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหามาจากครอบครัวแตกแยก ถูกพ่อแม่ตี โดนไล่ออกจากโรงเรียน และหนีออกมาจากสถานสงเคราะห์ของทางราชการ เป็นต้น
“จากการหารือพบว่า พบว่ามีเด็กสนใจสมัครเข้าเรียนกับ กศน.ค่อนข้างมาก แต่ที่มาเจอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อย จึงได้เสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนเวลาพบกลุ่มหรือเวลาเรียนเป็นช่วง 16.00 น. เป็นต้นไป และควรมีอุปกรณ์เทคโนโลยี พร้อมระบบสื่อสารออนไลน์มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนให้น่าสนใจ รวมทั้งแก้ปัญหาเด็กกลุ่มที่ต้องทำงานจนไม่สามารถมาเรียนได้เต็มที่ เพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อการเรียนรู้ ซึ่งทางเครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะจัดหาแท็บเล็ตจำนวน 10-15 เครื่อง ให้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2/2562 นี้ และช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การศึกษาให้อีกส่วนหนึ่งและศธ.จะเข้าไปดูแลในด้านอื่น ๆ ให้ครอบคลุมต่อไป