เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กอศ.เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการรับรองหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ของสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น รับรองหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2560)ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เทียบเท่าหลักสูตร ปวช. ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ.2556 , การรับรองหลักสูตร ปวส.(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2562) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 9 สาขาวิชา , การรับรองหลักสูตร ปวช.พ.ศ.2561 ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นต้น ซึ่งจากการรับรองหลักสูตรดังกล่าว ทำให้เห็นแนวโน้มในอนาคต ว่า เด็กหันมาเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะเรียนแล้วทำงานได้ทันที เพราะไม่ได้เน้นปริญญา แต่จะเน้นสมรรถนะ ซึ่งภาคเอกชนเขาก็ไม่เน้นปริญญาแต่จะเน้นว่าทำงานได้เขาก็รับแล้ว
เลขาธิการกอศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับความกังวลว่าการที่สถาบันอุดมศึกษาเปิดระดับ ปวช. ปวส. จะเป็นการแย่งเด็กกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาหรือไม่ นั้น ยอมรับว่ามีคนกังวลเหมือนกัน แต่ส่วนตัว ตนไม่มองเรื่องการแย่งเด็ก แต่มองว่าการทำให้เด็กมาเรียนอาชีวศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของรัฐ ของเอกชน หรือ มหาวิทยาลัย ก็คือการผลิตกำลังคนของประเทศ แล้วการเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้ในแง่ความรู้สึกและความคิดของคนที่ยังยึดว่าต้องเรียนมหาวิทยาลัยก็จะได้ควบคู่กันไป แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ คือ ก่อนที่จะมีการรับรองหลักสูตรมหาวิทยาลัยต้องทำแผนการรับนักเรียน รวมถึงแผนการทำทวิภาคีกับสถานประกอบการมาเสนอด้วย นอกจากนี้การที่สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนอาชีวศึกษายังสามารถนำจำนวนรับมารวมกับจำนวนนักศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เพื่อชี้ให้เห็นว่าภาพรวมของประเทศคนเรียนอาชีวะมากขึ้นได้ด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รวมจำนวนที่มหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งถ้ารวมได้เชื่อว่าตอนนี้ตัวเลขเด็กเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นมาก