นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผย ถึงความคืบหน้าการติดตามปัญหาการทุจริต ที่เกิดขึ้นในศธ. ว่า นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดศธ. และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้ส่งสรุปผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ระยะแรก ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2549 จำนวนเงิน 835 ล้านบาท มาให้ตนพิจารณาแล้ว โดยข้อเท็จจริงก็ควรจะดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี2556-2557 มิหนำซ้ำยังมีการจ่ายเงินล่วงหน้าทันที 15% หรือจำนวน เงิน125 ล้านบาท แต่การก่อสร้างก็ไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และมีการแก้ไขแบบรูปรายการถึง 6 ครั้ง ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบฯ สรุปชัดเจนว่า การแก้ไขแบบรูปรายการทั้ง 6 ครั้ง มีเหตุผลไม่เพียงพอ และน่าจะเอื้อกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำให้ราชการเสียประโยชน์ และจากการหารือกับฝ่ายกฎหมาย เห็นว่า ผลสรุปของทางคณะกรรมการตรวจสอบฯ ยังขาดการสรุป ในส่วนข้อมูลสำคัญ ทั้งขั้นตอนการส่งให้แก้ไขแบบรูปรายการมีใครบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงแต่บอกว่าช่วงที่มีการแก้ไขแบบรูปรายการ ใครเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ดังนั้นจึงสั่งการให้คณะกรรมการตรวจสอบขั้นตอนการแก้ไขแบบรูปรายการดังกล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า แม้ข้อมูลจะยังไม่เพียงพอ แต่ไม่ใช่ว่า อดีตเลขาธิการกอศ. ที่เกี่ยวข้องจะพ้นผิดได้ ซึ่งมี 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญา ดังนั้นเพื่อความชัดเจน และให้เกิดความยุติธรรม ตนจึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ไป สรุปเพิ่มเติมในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น การแก้ไขแบบรูปรายการว่ามีการสั่งการจากใคร หรือมีคนข้างล่างเสนอขึ้นมา ขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้สรุปให้ตนทราบ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า อดีตเลขาธิการกอศ. ทั้ง 3 คน จะไม่ต้องรับผิดชอบ เพียงแต่ตนต้องการเห็นภาพให้ชัดเจนว่า ใครเกี่ยวข้องอย่างไร และต้องรับผิดชอบตรงไหน
ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างรอสรุปผล โดยที่ผ่านมา ตนและนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการกอศ. ได้หารือกับ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อย่างไม่เป็นทางการ โดยขั้นตอนต่อไป นายสุเทพ จะประเมินความเสียหาย และจัดสรรงบฯ ประมาณ ดำเนินการจัดสร้างอควาเรียมให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งมอบให้ ทส. บริหารต่อเพราะศธ. ไม่มีผู้เชี่ยวชาญและกำลังในการดำเนินการ ทั้งนี้สาเหตุที่ต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนส่งมอบเพราะไม่ต้องการให้เป็นภาระกับทางทส.
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการศธ. ได้รายงานข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาการทุจริตในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา และชัยภูมิ ซึ่งหลายเรื่องทำให้ตนไม่สบายใจว่า น่าจะมีการทุจริต จึงมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป
พล.ท.โกศล กล่าวว่า กรณีการตรวจสอบอควาเรียม มีอดีตเลขาธิการกอศ. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขแบบรูปรายการก่อสร้าง 3 ราย คือ นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา ดำรงตำแหน่งปี2552-2553 มีการแก้ไขแบบ 1 ครั้ง นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ดำรงตำแหน่งปี2553-2554 แก้ไขแบบ 1 ครั้ง และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ดำรงตำแหน่งปี2555-2559 แก้ไขแบบ 4 ครั้ง ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบคงยังไม่เชิญ ทั้ง 3 รายมาให้ข้อมูล เพราะขั้นในตอนสอบสวนวินัย จะต้องเชิญให้ข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งระหว่างรอคณะกรรมการตรวจสอบฯสรุปผลเพิ่มเติม ตนอาจจะเสนอให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยควบคู่ไปด้วย ส่วนจะสอบวินัยร้ายแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลคณะกรรมการตรวจสอบฯ รวมถึงดูด้วยว่ามีความเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในส่วนใดบ้าง
ส่วนการลงพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน พบปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นในหลายจังหวัด หลายเรื่องดำเนินการในรูปแบบเครือข่าย กรณีแรก พบเจ้าหน้าที่พัสดุ ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา( สพป.)นครราชสีมา เขต 5 มีการวางฎีกาเบิกเงินซ้ำ โดยโรงเรียนแรก เบิกซ้ำไป 8 หมื่นบาท ส่วนอีกโรงเรียนโดนไป 3 ฎีกา 3 แสนบาท ทั้งนี้รูปแบบการทุจริต พบว่า มีการใช้ข้อมูลของร้านค้าที่โรงเรียนตั้งเบิกเงิน แต่เปลี่ยนชื่อรหัส ซึ่งร้านค้าที่โรงเรียนใช้อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา แต่ร้านค้าที่ถูกเปลี่ยนชื่อ อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนั้นยังมีการทำฎีกาลอยทิ้งไว้ที่เขตพื้นที่ฯ พอใกล้สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะมีงบฯเหลือจ่าย กลุ่มคนเหล่านี้จะใช้ฎีกาลอย เบิกเงินของโรงเรียนซ้ำอีกเป็นประจำ เท่าที่พบมีการตั้งฎีกาลอยไว้แล้วประมาณ 57 ฎีกา เรื่องนี้มีผู้หวังดีกับศธ. และทนพฤติกรรมไม่ไหว มาให้ข้อมูลโดยคณะทำงานของตนได้ทำบันทึกปากคำไว้เรียบร้อยแล้ว ถือว่ามีพยานหลักฐานชัดเจน และตอนนี้ทราบว่าศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเจ้าหน้าที่พัสดุแล้ว ทั้งนี้เท่าที่ตรวจสอบพบว่าข้อมูลที่ตนได้รับจากการลงพื้นที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลการสอบสวนของศธจ. โดยตนคิดว่า น่าจะมีผู้บริหารระดับสูงในเขตพื้นที่ฯ เกี่ยวข้องด้วย จึงขอสรุปสำนวนผลสืบสวนจากศธจ. เพื่อประมวลได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ไม่ใช่จับปลาซิว ปลาสร้อย เจ้าหน้าที่พัสดุคนเดียวไม่น่าจะทำได้เพราะรหัสการตั้งเบิกจะมีเฉพาะหัวหน้าฝ่ายบัญชีและการเงิน และผู้อำนวยการเขตฯเท่านั้น โดยขณะนี้ผู้ที่ให้ข้อมูลมีการถูกข่มขู่และทำร้าย ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องสั่งให้มีการคุ้มครองพยานด้วย
พล.ท.โกศล กล่าวต่อว่า อีกเรื่อง เป็นพฤติกรรมของผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 10 คนเข้ามาให้ข้อมูลพร้อมหลักฐานว่ามีการตกเขียว ในปีงบประมาณ 2562 โดยเรียกเงิน 10%จากผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ให้โรงเรียนจ่ายก่อน 5% เมื่อได้รับงบฯ แล้ว ให้จ่ายอีก 5% โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องยอมเพราะถ้าไม่ให้ก็จะไม่ได้รับงบฯ การดำเนินการจะทำเป็นระบบเครือข่าย ประธานเครือข่ายกลุ่มโรงเรียน จะแจ้งผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับงบฯ ซึ่งเรื่องนี้เรามีหลักฐานเป็นพยานบุคคลชัดเจนและจะส่งเรื่องให้สพฐ. เร่งดำเนินการกับผอ.สพท. ต่อไป
“เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ร้องเรียนมาที่คณะทำงานของผม ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น งบประมาณ 6 แสนบาทต่อโรงเรียน ว่าอาจจะมีการล็อกสเป็ก จากการลงพื้นที่ มีโรงเรียนในพื้นที่มาให้ข้อมูล และได้ตรวจสอบกับ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สพฐ. พบว่า งบดังกล่าว มีการแจ้งจัดสรรเมื่อ 26 ธันวาคม 2560 โรงเรียนได้รับการจัดสรรรวม 458 โรงเรียน งบทั้งสิ้น 279 ล้านบาท แต่ภายหลังเมื่อมีการอนุมัติงบฯ พบว่า มีโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรงบฯทั้งหมด 600 กว่าโรงเรียน ไม่ตรงกับที่อนุมัติ ขณะที่มีหลายโรงเรียนสะท้อนว่าไม่ได้ต้องการครุภัณฑ์ดังกล่าว บางโรงเรียนเสนอขอแต่ได้ไม่ตรงตามที่เสนอ โดยทราบว่างบฯดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ที่สพฐ.จะพิจารณาว่า จะเดินต่อหรือจะหยุด โดยขณะนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบ โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว ทางสพฐ. มีหนังสือสอบถามไปยังโรงเรียนทั้งหมดแล้วว่า ประสงค์อยากได้ครุภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ “พล.ท.โกศล กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 32 บุรีรัมย์ จำนวน 3 ราย ต่อเนื่อง จัดอบรมครู โดยไม่มีการอบรมจริง ซึ่งล่าสุด ตนในฐานประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริต ได้สรุปผลสอบ โดยล่าสุดดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ได้ลงนาม ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง อดีตผู้อำนวยการสพม.32 บุรีรัมย์ ทั้ง 3 รายแล้ว โดยปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสพม. เขต1 กทม. และสพม. เขต2 กทม. ส่วนอีก 1 รายเป็นรองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ทั้งนี้ไม่ต้องใช้ มาตรการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในระบบราชการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะทั้ง 3 รายไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดิมแล้ว