ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม อ.ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่ประชุมได้อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีศักยภาพในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ. ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สอศ. มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 และมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่า และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกสามารถกรอกใบสมัครทางระบบออนไลน์ และส่งเอกสารใบสมัครฉบับจริง ได้ที่สอศ. และในวันสมัครเข้ารับการคัดเลือก ผู้สมัครต้องรับรองตนเองด้วยว่าในวันบรรจุและแต่งตั้งตนเองไม่ติดเงื่อนไขใดที่ก.ค.ศ.กำหนด ทั้งนี้ ให้สอศ.กำหนดวันและเวลาในการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และให้อ.ก.ค.ศ. สอศ. ดำเนินการคัดเลือกกำหนดจำนวนตำแหน่งว่างในการคัดเลือก ประกาศรับสมัครก่อนวันรับสมัครไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร จำนวนตำแหน่งว่างที่จะใช้ในการบรรจุและแต่งตั้ง
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาค ก สมรรถนะในการบริหารงานในหน้าที่ ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ แบ่งเป็นการประเมินประวัติและประสบการณ์ การประเมินผลงาน และการประเมินศักยภาพ และภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 50 คะแนน) ซึ่งทั้ง 3 ภาค จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบการประเมิน ตัวชี้วัด และคะแนนการประเมิน และภาค ง องค์ประกอบตัวชี้วัดคะแนนการประเมิน และวิธีการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ ตามที่ อ.ก.ค.ศ. สอศ. กำหนด
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกต้องผ่านการพัฒนาก่อนบรรจุแต่งตั้ง ตามองค์ประกอบ ตัวชี้วัด แลวิธีการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ และตามข้อตกลงที่สอศ.กำหนด โดยให้มีการประเมิน ทุก 3 เดือน หากผลการประเมินใน 3 เดือนแรก ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับการประเมินทราบ เพื่อพัฒนาตนเองและปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน้าที่ และเมื่อครบ 3 เดือนหลังให้มีการประเมินรวมครั้งที่ 2 แล้วให้ผู้ประเมินสรุปผลการประเมิน หากผลการประเมินรวมทั้ง 2 ครั้ง ผ่านเกณฑ์การประเมินให้ผู้รับการประเมินปฏิบัติงานในหน้าที่ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาต่อไป
ดร.สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ. มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เป็นไปตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความประพฤติด้านวินัยคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ และความรู้ โดยผู้ขอมีวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ต้องดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสอศ. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ มีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ได้ปฎิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ในสายงานบริหารสถานศึกษาย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกัน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ รวมทั้งต้องผ่านการประเมิน 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ พิจารณาจากประวัติการรับราชการ คำรับรองของผู้บังคับบัญชา เอกสารหลักฐานที่แสดงการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านที่ 2 ด้านความรู้ความสามารถ และทักษะ ตามมาตรฐานวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ พิจารณาจากการพัฒนางานในหน้าที่และการพัฒนาตนเอง เป็นผู้มีความสามารถในการบริหารและการจัดการศึกษา พิจารณาจากความสามารถในการบริหารงานทั่วไป การพัฒนาด้านวิชาการ การบริหารงบประมาณการเงินและทรัพย์สิน รวมถึงการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการบริหารและการจัดการศึกษา ในด้านที่ 3 ด้านผลการปฎิบัติงาน คือ การรายงานผลการพัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบตามมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และลักษณะที่ปฏิบัติในสถานศึกษา ซึ่งเป็นการรายงานผลที่เกิดกับผู้เรียนและหรือผู้รับบริการ เกิดกับสถานศึกษา เกิดกับสังคม ประเทศชาติ ตลอดทั้งการพัฒนางานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ รวมถึงผลงานทางวิชาการ
“ ผู้ประสงค์ขอรับการประเมินสามารถยื่นคำขอได้ตลอดปี ปีละ 1 ครั้ง กรณีผู้ที่จะเกษียณอายุราชการให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงาน ด้านที่ 1 ด้านที่ 2 และด้านที่ 3 ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการไม่น้อยกว่า 6 เดือน สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา ที่ขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 และตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ศธ 0206.3/ ว 13 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ให้ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ “เลขาธิการ กอศ.กล่าว ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็ปไซต์ของสอศ. Vec.go.th