ศ.นพ.จรัส  สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม กอปศ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้สรุปบทบาทภาคเอกชนในการจัดการศึกษา พร้อมข้อเสนอประกอบรายงานของ กอปศ.ที่จะเสนอรัฐบาล โดยที่ประชุมอยากเห็นภาคเอกชนมีสัดส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น เนื่องจากมีความคล่องตัว มีคุณภาพ สามารถพัฒนาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าภาครัฐ ซึ่งต่อไปจะมีการจัดการศึกษาที่ไม่ใช่ระบบโรงเรียนทั้งหมด ดังนั้นจะต้องปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ให้สามารถทำงานได้ครอบคลุมมากขึ้น 

ประธานกอปศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ซึ่งมีกว่า 1.5 หมื่นโรง หรือครึ่งหนึ่งของโรงเรียนกว่า 3.3 หมื่นโรงทั่วประเทศ เนื่องจากอนาคตแนวโน้มโรงเรียนขนาดเล็กจะมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง การคมนาคมดีขึ้นทำให้เด็กสามารถไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นโรงเรียนที่เคยมีนักเรียนมากกว่า 120 คน ก็มีโอกาสกลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็กได้ อีกทั้งรายงานของธนาคารโลก ก็ระบุว่า ประเทศไทยลงทุนกับโรงเรียนขนาดเล็กไปมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้ต่ำ ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไข  โดยมีเป้าหมายคือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพได้  

“กอปศ.จะเสนอรูปแบบการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562  โดยจะเสนอให้เลือกโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 1,000 โรงมาเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม โดยคัดเลือกจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหรือบนเกาะ จำนวน 1 ใน 4  และ โรงเรียนพื้นที่ปกติทั่วไป 1 ใน 10 ทั้งนี้ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกว่าจะให้พัฒนาโรงเรียนใดเป็นพิเศษ เพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่เน้นเรื่องคุณธรรม ความดี”ศ.นพ.จรัสกล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments