เมื่อวันที่ 30 เมษายน นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกอปศ. ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีเรียบร้อยแล้ว กำลังรอรัฐบาลเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะจะทำให้เกิดคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่จะดูแลการศึกษาในภาพรวมทั้งประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะต้องปรับบทบาทหน้าที่ไปเป็นสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยขณะนี้สกศ. อยู่ระหว่างพิจารณา ปรับโครงสร้างภายในเพื่อรองรับบทบาทใหม่ ซึ่งต่อไปสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายฯ จะต้องไม่ยึดติดกับระบบราชการเหมือนที่ผ่านมา แต่จะต้องมีความคล่องตัวและมีความเข้มแข็งในเรื่องระบบข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายทางการศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงจะต้องมีการปรับแผนการศึกษาแห่งชาติ ให้สอดรับกับร่างพ.ร.ก.การศึกษาฯ ด้วย ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกหลังพ.ร.ก.การศึกษาฯ ประกาศใช้ กอปศ. จะทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายฯ ชั่วคราวไปพลางก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างพ.ร.ก.การศึกษาฯ ฉบับใหม่นี้ได้มีการทบทวนหรือปรับข้อกังวลของกลุ่มครู และบุคลากรทางการศึกษาได้ทักท้วงหรือไม่ นพ.จรัส กล่าวว่า ไม่ได้มีการปรับ เพราะหลายเรื่องได้ถูกปรับไปจากสิ่งที่กอปศ. เสนอไปแล้ว แต่ยังคงหลักการและความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ให้ความสำคัญ และคืนศรัทธาและยกย่องครูอย่างแท้จริง ไม่ใช่ครูเป็นลูกน้องผู้บริหาร เป็นการเปลี่ยนจากระบบบริหารไปเป็น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญคือ โรงเรียน ไม่ใช่ระบบบริหาร ที่เหมือนกับการบริหารธุรกิจ แต่ต้องเป็นเรื่องของความรับผิดชอบโรงเรียน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของนักเรียน ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสอดคล้องกับกอปศ. ว่าต้องใช้คำว่า”ครูใหญ่” ที่มีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนและมีความสำคัญจริงต่อประสิทธิผลทางการเรียนของเด็ก
“ถือว่ารัฐบาลนี้มีความกล้าหาญมาก ที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ เพราะมีเสียงคัดค้าน แต่ก็ผ่านมาได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ออกมาค้าน เป็นการค้านในสิ่งสมมติ แต่สิ่งที่กอปศ.เสนอและทำคือ ของจริง กฎหมายนี้เปลี่ยนวิธีคิด หลักคิด ค่านิยม ว่าการศึกษาไม่ใช่ดีขึ้นเพราะการบริหาร แต่การศึกษาดีขึ้นด้วยครู “นพ.จรัสกล่าว
การศึกษาไทยไปกันใหญ่แล้ว ทำอย่างไรที่จะทำให้ครูมีจิตสำนึกของความเป็นครู ไม่ต้องเอาครูออกนอกห้องเรียน ลดงานกระดาษ ประเมินจากตัวนักเรียนจากสภาพจริง เลิกประกวดโรงเรียน ให้ครูสอนอย่างเดียว เท่านี้รับประกันได้การศึกษาไทยเจริญแน่นอน การเพิ่มวิทยฐานะของครูขอให้ดูที่ตัวนักเรียน