เมื่อวันที่ 24 เมษายน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ผู้อำนวยการสำนัก และผู้รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล และโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ สพฐ.ดำเนินการ เพื่อจัดทำผลรายงานสรุปการดำเนินงาน เสนอ รมว.ศึกษาธิการและรมช.ศึกษาธิการ โดยรายงานจะแยกเป็น 4 มิติ คือ 1. การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมี 6 ยุทธศาสตร์ ว่า แต่ละยุทธศาสตร์มีโครงการอะไรบ้าง มีผลสำเร็จอย่างไร ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 2. มิติของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านเจตคติ ซึ่งจะสรุปว่าการทำงาน 4 ปี ได้ทำอะไรไปบ้าง แล้ว สรุปผลว่าแต่ละด้านเป็นอย่างไร เด็กมีพัฒนาการอย่างบ้าง 3. มิติของการจัดการศึกษาสู่สากล ในประเด็นการขับเคลื่อนการประเมินการศึกษานานาชาติ หรือ พิซา ของ สพฐ. ว่า มีอะไรบ้าง ทำอะไรอยู่ และกำลังจะทำอะไรต่อไป และการประเมินของ World Ecomomic Forum ที่ประเมินประเทศไทยเรื่องการลงทุนด้านการศึกษาว่า เราทำอะไรไว้บ้าง เพื่อดูศักยภาพของประเทศ และ มิติที่ 4 .งานโครงการตามพระราโชบาย ด้านการศึกษาของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า การสรุปรายงานนี้ นอกจากเสนอรัฐมนตรีทั้ง 3 คนแล้ว อาจจะเสนอเป็นรายงานต่อรัฐบาลด้วย อีกทั้งจะใช้เป็นข้อมูลสำหรับรัฐบาลใหม่เพื่อให้ทราบว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการอะไรไปบ้าง กำลังทำอะไรอยู่ และมีแผนงานอะไรต่อไป เพื่อจะได้เกิดการเชื่อมต่องานในส่วนที่ สพฐ.รับผิดชอบได้ อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาของรัฐบาลนี้ สพฐ.ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยสิ่งที่รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก คือ การแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลให้คะแนนโอเน็ต ป.6 สูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลคุณภาพการศึกษาก็ดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ DLTV ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลการประเมินโครงการในโรงเรียนที่ใช้ DLTV ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหมื่นกว่าโรง มีปัญหาครูไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชาเอก ขาดปัจจัยต่าง ๆ ก็พบว่าผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทุกกลุ่มสาระ และที่น่ายินดี คือ ปีนี้ทางมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะให้การสนับสนุนต่อเนื่องให้โรงเรียนขนาดเล็กได้ทำงานต่อ ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคตโรงเรียนที่ใช้ DLTV จะมีคุณภาพสูงขึ้น และ สพฐ.ได้ให้นโยบายไปยังเขตพื้นที่การศึกษาแล้วว่า หากโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการแต่มีปัญหาขาดครู ก็สามารถขอตั้งงบฯมาที่ สพฐ.ได้ ซึ่ง สพฐ.ยินดีให้การสนับสนุน เพราะการที่จะรอให้ครูครบชั้นครบวิชาเอกจริง ๆ คงต้องใช้เวลานานในการจัดหาครูได้ตรงตามความต้องการ
“สำหรับโครงการต่าง ๆ ในเรื่องการสอนภาษาอังกฤษ ที่รมว.ศึกษาธิการผลักดันนั้น โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีความพร้อมผลคะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นในปีต่อไปก็จะมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในหลายโครงการ แม้แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่สูงตามเกาะแก่งด้วย”เลขาธิการกพฐ.กล่าว