เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ที่ โรงแรมฮิลตัน หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ.มทร.ที่ประชุมได้มีการเสนอยุทธศาสตร์ 9 มทร. ในการรับสานต่อวิสัยทัศน์ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในโอกาสมอบนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ในงานประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 9 มทร. ซึ่งมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของ รมว.อว. โดยเฉพาะแนวคิด “2 ลด 2 เพิ่ม” ที่มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา พร้อมเพิ่มทักษะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และการมีอาชีพที่มั่นคงสำหรับอนาคตของชาติ

ประธาน ทปอ.มทร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ มทร.ทั้ง 9 แห่ง เรายังพร้อมที่จะผลักดันนโยบายสำคัญอื่นๆ เช่น ระบบ National Credit Bank ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตอย่างยืดหยุ่น และการจัดตั้งแพลตฟอร์ม Skills Future Thailand ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมทักษะอาชีพที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ SkillsFuture ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ผ่านระบบคูปองฝึกอบรมที่ประชาชนสามารถใช้พัฒนาทักษะตนเองในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สำหรับประเทศไทย โครงการนี้จะมีการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลทักษะ (Skill Mapping) ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถเลือกพัฒนาในทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพจริง อาทิ ทักษะดิจิทัล ทักษะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และทักษะผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนด้วยระบบ Skill Transcript ที่ช่วยบันทึกและแสดงผลความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

“ขอย้ำว่า มทร.ทั้ง  9 แห่ง จะร่วมกันสานต่อนโยบายของรมว.อว. ที่ว่า  AI for Education มุ่งเน้นให้คนไทยสามารถ “ใช้ AI ได้” และ “สร้าง AI เป็น” อย่างมีประสิทธิภาพและจริยธรรม พร้อมผลักดันมหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ “AI University” และ “Education 6.0” อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการวางระบบหลักสูตรและความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายให้บัณฑิตไทยร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI และร้อยละ 50 มีทักษะการใช้ AI อย่างแท้จริง ภายในปีที่ 2 ของการศึกษา พร้อมตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน AI ให้ได้อย่างน้อย 30,000 คน ภายใน 3 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญ (AI Professional) วิศวกร (AI Engineer) จนถึงผู้เริ่มต้น (AI Beginners)ในการพัฒนา AI University โดยเราจะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาไทยให้มี AI literacy สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในโลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.อุดมวิทย์ กล่าวและว่า เชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์และนโยบายที่มีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนของ รมว.อว. จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบอุดมศึกษาไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล และมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงสุดให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments