เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินการรับนักเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2568 และมีการมอบตัวนักเรียนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนนักเรียนที่มีที่เรียน และจะเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.จำนวน 1,097,902 คน เป็น ระดับอนุบาล จำนวน 218,426 คน 23,862 ห้องเรียน ระดับชั้น ป.1 จำนวน 266,846 คน 21,699 ห้องเรียน ชั้น ม.1 จำนวน 372,206 คน 14,826 ห้องเรียน  และ ชั้น ม.4 จำนวน 240,324 คน 8,116 ห้องเรียน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่มีที่เรียน ซึ่ง สพฐ.ขอแจ้งว่าว่า ยังมีที่ว่างในโรงเรียนที่ยังรับนักเรียนไม่เต็มแผนการรับจำนวนกว่า 3 แสนที่นั่ง ในระดับ ชั้น ม.1 จำนวน 217,286 คน และ ระดับชั้น ม.4 จำนวน 97,511 คน  โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 เมษายน 2568 พบว่า มีนักเรียนมายื่นความจำนง ขอรับการจัดสรรที่เรียน ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 18,737 คน แบ่งเป็น ระดับชั้น ม.1 จำนวน 14,844 คน และ ม.4 จำนวน 3,893 คน โดยกลุ่มนี้จะประกาศผลฯ และมอบตัว ภายในวันที่ 27 เมษายนนี้ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะประกาศผลการจัดสรรที่เรียนในวันที่ 23-24 เมษายนนี้ และภายหลังจากการประกาศผลฯ คาดว่าโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีที่นั่งว่างคงเหลืออีกจำนวนกว่า 6,500 คน โดยนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนก็สามารถยื่นความจำนงได้ถึงวันที่ 22 เมษายน ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อดำเนินการจัดสรรที่เรียนให้นักเรียนได้มีที่เรียนทุกคน

ทั้งนี้ แม้ว่าเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 แล้ว หากโรงเรียนใดยังมีที่นั่งว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ นักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียนหรือนักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (อายุระหว่าง 3-18 ปี) สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ ณ โรงเรียนของ สพฐ. ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และนโยบาย “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ของ สพฐ. เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
.
“สำหรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น สพฐ. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณฯ ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้ว ทั้ง 5 รายการ (ค่าจัดการเรียนการสอน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน) ให้นักเรียนได้รับหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบนักเรียน ครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อช่วยลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาทุกแห่ง ในเรื่องแนวทางการยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกายของนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 ที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถพิจารณา ยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งกาย ให้แก่นักเรียนได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นสำคัญ เพื่อให้การเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 เป็นไปอย่างเรียบร้อย ให้นักเรียนทั่วประเทศ “เรียนดี มีความสุข” อย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments