เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความอบอุ่น และความสนุกสนาน เด็กๆ ต่างรอคอยการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีความห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในด้านสุขภาพร่างกาย จึงขอให้ระมัดระวังสภาพอากาศที่ร้อน ไม่ควรอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานเล่นน้ำอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เล่นน้ำติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง ไม่วิ่งตัดหน้ารถ ไม่ให้เด็กเล่นลำพัง หรือใช้อุปกรณ์การเล่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศร่วมรณรงค์ความปลอดภัยในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยานพาหนะโดยรักษากฎจราจรการสวมใส่หมวกกันน็อก ไม่ขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมา หรือการไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ เพราะช่วงเวลาแห่งความสุขไม่ควรมีอุบัติเหตุเกิดเพียงเพราะความประมาท
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า รมว.ศึกษาธิการ ยังได้กำชับหน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยอ้างอิงจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 12-14 เมษายน 2568 ขอให้ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนและฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนองและเส้นทางที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังการจัดกิจกรรมกลางแจ้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ และดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย พร้อมสั่งการให้ สพฐ. แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัด ตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างในโรงเรียนให้มีความมั่นคง ปลอดภัย เตรียมความพร้อมรับมือพายุ และบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ฝ่ายปกครองในพื้นที่ หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมถึงติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
“พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้มอบหมายให้ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายต่างๆ เฝ้าระวังความประพฤตินักเรียนภายนอกสถานศึกษาในภาวะเสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีในทุกกรณี อีกทั้งก่อนปิดภาคเรียน สพฐ. ได้มีหนังสือเรื่อง “มาตรการเตรียมความพร้อมการปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567” แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ให้เตรียมการรักษาความปลอดภัย และวางแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และทรัพย์สินของทางราชการในทุกด้านแล้ว ซึ่งหากประสบเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ขอให้สถานศึกษาดำเนินการตามมาตรการกำกับ ติดตามและรายงานเหตุ ตามแนวทางปฏิบัติที่ สพฐ. ได้แจ้งไปอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว