เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 11/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting โดย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งส่งผลกระทบถึงการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แต่ สพฐ.และโรงเรียนสามารถดำเนินการด้วยความเรียบร้อย โดยทุกโรงเรียนมีการเตรียมความพร้อมและดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดี สำหรับการประชุมวันนี้ที่ประชุมได้มีการติดตามเรื่อง การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยการเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA นั้น สพฐ.ได้รายงานความก้าวหน้าการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 429,603 คน อบรมแล้วเสร็จ 326,375 คน
โรงเรียนนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในภาคเรียนที่ 2/2567 จำนวน 6 – 8 เรื่อง ครบทุกโรงเรียน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะความฉลาดรู้ ได้สอดคล้องกับแนวทางการประเมิน มีวิธีการใช้คำถามกระตุ้นการคิดให้กับนักเรียนได้ฝึกคิด นักเรียนได้รับการฝึกการอ่าน คิดวิเคราะห์ จับประเด็น เชื่อมโยงได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกทำข้อสอบ Computer Based Test ในภาคเรียนที่ 1 และ 2/2567 ทำให้นักเรียนคุ้นเคยการทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์มากขึ้น และมีกิจกรรม “เพิ่มพูน” สมรรถนะความฉลาดรู้ ระยะที่ 1 ในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 และระยะที่ 2 ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2568 – กุมภาพันธ์ 2569 โดยจะเป็นการจัดการสอนวิชาการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในรูปแบบ Anywhere Anytime ทางออนไลน์ ผ่านช่องทาง OBEC Channel : OBEC TV , Facebook, YouTube และ สพฐ. ได้เชิญชวนเด็ก ๆ เข้าร่วมกิจกรรมปิดเทอมใหญ่ เด็กไทย ฉลาดคิด เล่นเกม “สนุกคิด ปิดเทอมใหญ่” ตอบคำถาม PISA ชิงเกียรติบัตรและรางวัลจาก รมว.ศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 8 เมษายน – 16 พฤษภาคม 2568 โดย ณ วันที่ 7 เมษายน มีนักเรียนร่วมเล่นเกมแล้ว 1,019 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสภาการศึกษา(สกศ.) ได้เสนอเกี่ยวกับ AI Mapping for Education Development ซึ่งมีการประเมินความพร้อม 4 มิติ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ เติมเต็มช่องว่างให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านบุคลากรทุกภาคส่วน ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านการบริหารจัดการศึกษา พร้อมนำเสนอ 7 ประเด็นการศึกษาที่ผู้กำหนดนโยบายต้องตระหนัก ช่วงปี 2568 – 2570 ได้แก่ 1. ระบบการศึกษาที่ขับเคลื่อนและจัดหาเงินทุน 2. การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้ภายนอกกรอบสถาบัน 3. การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา 4. แนวโน้มล่าสุดในระบบการศึกษาและผลกระทบในอนาคต 5. ประโยชน์ของการศึกษา ต่อบุคคลและสังคม 6. การเริ่มต้นของการศึกษาในโรงเรียนและการเรียนรู้พื้นฐาน (การศึกษาปฐมวัย – ประถมศึกษา) 7. การขาดแคลนครูและความน่าดึงดูดใจของอาชีพครู
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้รายงานถึงความท้าทายของโรงเรียนไทย ว่า สมศ.ได้มีการประเมินคุณภาพโรงเรียนทั้งหมด 5,075 แห่ง โดยใช้มาตรฐาน 3 ด้าน ได้แก่ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน การบริหารจัดการและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ และการสอนและหลักสูตร ซึ่งประเด็นสำคัญที่ได้จากการวิเคราะห์ พบว่า การลงทุนในด้านครูและการสอน อาจมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากขึ้น และการปรับกลยุทธ์การพัฒนาโรงเรียนไม่ควรใช้แนวทางเดียวกันทั้งหมด แต่ควรปรับตามบริบทของโรงเรียนในแต่ละกลุ่ม จึง ขอให้ สมศ.เป็นหลักในการขับเคลื่อนต่อเนื่อง ปรับข้อมูลให้ผลเข้าใจง่าย เอาผลทุกหน่วยงานวัดมาวิเคราะห์ ไม่อยากให้ดูเฉพาะผลลัพธ์ แต่ขอให้ดูข้อมูลตัวป้อน เพราะต้นทุน บริบทแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน และให้ สพฐ. นำข้อมูลนี้ไปใช้พัฒนาโรงเรียนต่อไป และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ โรงเรียนคู่พัฒนา โรงเรียนที่มีคุณภาพเด่น ช่วยเหลือโรงเรียนที่มีคุณภาพน้อยกว่า
“น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยขอให้ทุกหน่วยงานอำนวยความสะดวก ในการเดินทางและดูแลความปลอดภัย โดยขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการในการเตรียมอาสาสมัครนักเรียนอาชีวะ เพื่อช่วยซ่อมรถของประชาชนที่เสียระหว่างการเดินทาง ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ได้ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก และเครือข่ายภาคเอกชน จัดกิจกรรมอาชีวะ-ขนส่ง อาสาช่วยประชาชน ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2568 ตั้งแต่ 6 โมงเช้า – 6 โมงเย็น จำนวน 150 จุดบริการ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีบริการ ฟรี “พักรถ” ตรวจเช็คสภาพรถยนต์ 20 รายการ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หลอดไฟรถจักรยานยนต์ ตรวจเช็คสภาพและชาร์ตแบต รถยนต์ไฟฟ้า EV ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ระยะ 5 กม. จากจุดบริการ “พักคน” จัดบริการน้ำดื่ม กาแฟ ชาร์จแบต นวดผ่อนคลาย และบริการสอบถามเส้นทาง ฯลฯ” รมว.ศึกษาธิการกล่าว