เวลา 09.09 น. วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงสมโภชพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เพื่อนำออกให้ประชาชนสักการะและสรงน้ำขอพร เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน โดย นายอนันต์ กล่าวว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์เป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในปีใหม่ไทย เนื่องด้วยในสมัยโบราณ คนไทยมักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทย คือ สงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะเจ้านายก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับปี 2562 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้อัญเชิญพระธาตุ 23 องค์ ซึ่งแต่เดิมบรรจุไว้ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาประดิษฐานในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา เป็นประธานในพิธี และอัญเชิญเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ มาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำขอพร ทั้งนี้ เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า พระอังคาร ทรงมหิงสา พระพุธ ทรงคชสาร พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์ พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค
สำหรับประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ที่อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ ตามระบบทักษาในแผนผังอัฐจักรนี้ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 12 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งประติมากรรมเทวดานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทวดานพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
นอกจากนี้ ยังจัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “รูปเทวดานพเคราะห์ยอดบัตร” ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้รับมาจากหอแก้ว ศาลเทพารักษ์ประจำพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช 2471 และนำมาให้ชมในช่วงสงกรานต์นี้เท่านั้น พุทธศาสนิกชนและประชาชนที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2562 พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเรื่อง “รูปเทวดานพเคราะห์ยอดบัตร” ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน เวลา 09.00-16.00 น.