เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 6/2568 ว่า การประชุมวันนี้มีการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ 78 ห้องเรียน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้ว 239,098 คน อบรมแล้วเสร็จ 147,794 คน  , มีการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ 3 โดเมน ไปใช้ในห้องเรียน 6 – 8 กิจกรรม คิดเป็นร้อยละ 87.89  , มีการวางแผนจัดทำชุดพัฒนาความฉลาดรู้สำหรับนักเรียน ม.4 เพื่อสอนเสริมเพิ่มพูนในรูปแบบ Anywhere Anytime  และมีการเตรียมจัด Computer Summer Camp 2025 ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้รูปแบบ Anywhere Anytime ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2568

ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ได้นำเสนอปัญหาของการเตรียมตัวสอบ PISA ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก “ทรัพยากรที่จำกัด” โดยนำเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมการทดสอบ PISA2025 (PISA 2025 Check List) 4 กระบวนการ ได้แก่ 1. สร้างแรงจูงใจแก่นักเรียน ครู ไปจนถึงผู้อำนวยการโรงเรียนให้เห็นถึงความสำคัญของการสอบ PISA Style 2. สร้างทักษะ ให้เด็กกลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสทดลองข้อสอบ ครูสามารถออกข้อสอบแนว PISA ได้ และจัดทำ Application โดยนำ AI เข้ามาช่วย ซึ่งมีแผนพัฒนา AI ในช่วงเดือนเมษายนนี้ ก่อนนำไปใช้ทดสอบกับกลุ่มผู้ใช้จริงในเดือนมิถุนายน 3. โครงสร้างพื้นฐาน โดยมีการตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์สอบ PISA 4. ระบบสนับสนุน โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานในระดับบริหารเห็นความสำคัญ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สกศ.ยังได้รายงานการจัดอันดับ English Proficiency Index (EF EPI) ว่า ตามที่ EF ได้จัดอันดับ English Proficiency Index (EF EPI) ซึ่งเป็นการจัดอันดับประเทศและภูมิภาคด้วยทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งดัชนีทักษะภาษาอังกฤษของไทย อยู่ในอันดับ 106 จาก116 ประเทศ นั้น เมื่อดูในรายละเอียดสถิติคะแนนสอบของผู้เข้าสอบเป็นช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้เข้าสอบช่วงอายุ 41-50 ปี ยังได้คะแนนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้นำเรื่องนี้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนระยะยาวและมีมาตรการเร่งส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ โดยมอบหมายให้เลขาธิการคุรุสภา ประสานงานกับทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายใต้กำกับของ ศธ. ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ สกศ. และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)เพื่อกระตุ้นการฝึกทักษะด้านภาษาและเห็นความสำคัญของการเข้าทดสอบต่าง ๆ

“นอกจากนี้มีการรายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (THAILAND Zero Dropout) โดย สกศ. รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ (Thailand Zero Dropout) ข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ภาคบังคับ (6-15 ปี) ณ วันที่ 3 – 17 ก.พ. 2568 จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา 1,025,514 คน  ติดตามแล้ว 976,123 คน (ร้อยละ 95.18) และสามารถนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา 321,765 คน (ร้อยละ 31.38)  ยังไม่ได้ติดตาม 49,391 คน (ร้อยละ 4.82)ซึ่งติดตามเด็กวัยเรียนภาพรวมเพิ่มขึ้น 95,038 คน (สพฐ. 61,298 คน ศธจ. 33,740 คน) เป็นเด็กไทย 59,717 คน และเด็กต่างชาติ 35,321 คน  และ มีการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา ที่อยู่ในวัยเรียน (เด็กตกหล่น) โดย สพฐ. สำเร็จแล้ว 616,625 คน ครบร้อยละ 100

“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่เราได้ลงพื้นที่ ติดตามเด็กตกหล่น ทำให้ได้เห็นปัญหาทั้งหมด และโครงการตามน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ของ สพฐ. ก็ได้ผลดี ซึ่งเป็นแนวทางที่ดี และคิดว่าในปีต่อไปเด็กหลุดระบบจะน้อยลง แต่ก็ต้องมีการวางกระบวนการใหม่เพื่อลดภาระให้กับโรงเรียน โดยต้องดูปัญหาในแต่ละกรณีเพื่อให้เจ้าภาพในพื้นที่ที่รับผิดชอบได้ช่วยติดตามช่วยโรงเรียน เพราะครูจะต้องดูในมิติของการเรียนการสอน ส่วนการตามเด็กให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง อย่างไรก็ตามปีนี้ที่เราประสบความสำเร็จในการติดตามเด็ก ผมเชื่อว่าเป็นเพราะความร่วมมือที่ดีกับหลาย ๆ หน่วยงานในการดำเนินการตามแนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments