เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA 2025 ว่า ถึงวันนี้มีความมั่นใจ 95% ว่าเด็กเราจะสามารถทำได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเตรียมเด็กในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้ารับการประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผลคะแนนPISA ด้วย โดย รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญในการติดตามรายงานการขับเคลื่อนทุกสัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการซึ่งมีวิธีดำเนินการและขั้นตอนตามปฏิทินที่วางไว้ โดยหน่วยงานที่ดำเนินการไม่ใช่เพียงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)หน่วยงานเดียว แต่เป็นการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ที่สำคัญ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ก็ให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพลงสู่ผู้เรียนและมีการติดตามเองในทุก ๆ ครั้งที่ลงพื้นที่ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทราบถึงปัญหาติดขัด รวมถึงเสียงสะท้อนผลจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกสองสัปดาห์ 21 ครั้ง แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำจึงเป็นเติมเต็มให้กับเด็กชั้น ม.2 ม.3 ที่จะขึ้น ม.3 และ ม.4 ทุกคน เกือบ 1 ล้านคน ให้พร้อมเพื่อการสุ่มสอบ PISA จำนวนประมาณ 8,000 คน ในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพราะข้อสอบ PISA เป็นข้อสอบเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้ คือ การนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีสถานการณ์มาเป็นตัวจับ ซึ่งเลยขั้นท่องจำไปแล้ว ดังนั้นทิศทางของการศึกษาจึงไม่ใช่แค่เพียงท่องจำแต่เป็นการเอาความรู้ที่มีอยู่บวกกับบทความที่อยู่ในข้อสอบ คือ การผนวกทั้งเรื่องของความรู้ที่เติมไปกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันบวกกับสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ นำไปสู่การประมวลผล แล้วเด็กจะตอบออกมาในลักษณะของการให้เหตุและผล ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่เด็กทุกคนต้องมี

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ในการอบรมพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อม เรามีการดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1. การอบรมชุดพัฒนาการฉลาดรู้เข้าสู่บทเรียนเป็น formative assessment ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 และ อบรมแกนนำ 1,400 คน บวกกับคลิปวิดีโอ  2. Computer based test เนื่องจากการสอบ PISA จะใช้คอมพิวเตอร์ในการสุ่มสอบ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือแม้นักเรียนจะพร้อมแต่ทักษะการใช้การเข้าถึงไอซีทีต่าง ๆ มีความจำเป็น ซึ่งจุดนี้คือ 5% ที่ทำให้เรายังไม่มั่นใจ แต่ก็ยังพอมีเวลาที่จะเตรียมพร้อมได้ และส่วนที่ 3 . การอบรมครูในการตั้งคำถามให้เด็กคิดวิเคราะห์ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็ให้มีการจัดคอร์ส ออนไลน์ โดยมีครูลงทะเบียนกว่า 200,000 คนแล้ว และผ่านการอบรมจบออกไปแล้วประมาณ 100,000 กว่าคน  ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้เด็กสามารถตั้งคำถามและเกิดการคิดวิเคราะห์เป็น เป็นการยกระดับมาตรฐานทั้งประเทศ ทุกห้องเรียน

“ถือว่าตอนนี้เราเตรียมเด็กให้มีความพร้อมให้แล้ว ถึงแม้เด็กจะไม่ได้เข้าสอบ PISA ทุกคน แต่ก็เป็นหน้าที่ของ สพฐ.ที่จะต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งประเทศซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์ เด็กทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพ ส่วนการสอบ PISA ถือว่าเป็นของแถม”ดร.เกศทิพย์ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments