เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดโครงการ ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกสถานที่ หรือ โครงการ กพฐ.สัญจร โดยนำคณะกรรมการ กพฐ. ที่มี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหาร สพฐ. ได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อตรวจเยี่ยมสถานศึกษา และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของ กพฐ. และทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานโดย ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวภายหลังการลงตรวจเยี่ยมที่โรงเรียนบ้านหนองรังมิตรภาพที่ 107 และโรงเรียนบ้านทุ่งน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)น่าน เขต 1 ว่า จากการลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนทั้ง 2แห่ง ร่วมกับ ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พบว่า ทั้ง 2โรงเรียน เป็นโรงเรียนเรียนรวมที่มีสัดส่วนของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษค่อนข้างสูง เรียกว่าเป็น เดอะแบกก็ได้ เพราะมีเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมาอยู่ที่ 2โรงเรียนนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองโรงเรียนสามารถจัดการได้ดีมากทำให้ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นและนำลูกมาเรียนทั้งสองโรงเรียนนี้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยากจะตอบแทนผู้ปกครองทั้งสองโรงเรียน คือ ขอบคุณ เพราะได้เห็นถึงความทุ่มเท และความเสียสละของผู้บริหารและครูรวมถึงบุคลากรของทั้งสองโรงเรียน โดยเห็นได้จากคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและผลงานที่ออกมาปรากฎชัดเจน
“ถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารโรงเรียนทั้งสองแห่ง ที่ โรงเรียนมีสัดส่วนเด็กพิเศษมากถึง 30% ซึ่งเป็นการบริหารที่ยากกว่าโรงเรียนปกติ นอกจากนี้สิ่งที่พบคือปัญหาเรื่องอัตรากำลัง กรณีครูที่ดูแลเด็กพิเศษเมื่อลาออกหรือย้ายออกจากโรงเรียนอัตราก็จะถูกยุบลงทันทีทั้งที่โรงเรียนนั้นยังมีเด็กพิเศษเรียนอยู่ เรื่องนี้เป็นอีกปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องให้ความสำคัญลงมาดูแล อย่ามองแค่เพียงต้องการลดอัตรากำลังแต่สถานศึกษายังมีความต้องการอัตรานี้อยู่จริง ไม่ใช่ความต้องการแฝง ดังนั้นก็ควรต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และอีกปัญหาคือเรื่องรถรับส่งนักเรียน ที่เก่าชำรุด ทำให้ การรับส่งนักเรียนยากลำบาก ส่วน อาคารเรียนที่ ทรุดโทรมก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลสนับสนุนจากส่วนกลางเช่นกัน” ประธาน กพฐ.กล่าว
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กพฐ.มีหน้าที่กำหนดบทบาทแนวนโยบาย และทิศทาง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งการลงพื้นที่ กพฐ.สัญจร โดยการแบ่งสายลงไปตรวจ เยี่ยมโรงเรียน ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่าง ๆ จะทำให้เห็นสภาพการจัดการศึกษา ปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงของพื้นที่ เพื่อนำเข้าที่ประชุม กพฐ. เพื่อประมวลสภาพปัญหาและ ออกแบบหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนได้ลงพื้นที่โรงเรียนบ้านเวียงเหนือ สพป.น่าน เขต 1 ซึ่งมีนักเรียน 31 คนมีครู 3-4 คน สิ่งที่พบคือเด็กส่วนหนึ่ง เป็นเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมาเรียนรวมกับเด็กปกติ จากการสังเกตพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างมากสำหรับโรงเรียนปกติ เพราะบางห้องมี นักเรียน4 คนมี เด็กปกติ 2 คน เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 2คน บางห้องมีนักเรียน3คนมีเด็กปกติ2คนมีเด็กพิเศษ1คน ซึ่งเกือบทุกชั้นของโรงเรียนแห่งนี้มีเด็กพิเศษเรียนรวมเกือบทุกห้อง ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะ การที่มีนโยบายเรียนรวมเป็นแนวทางที่ สพฐ.ออกแบบไว้เพื่อแก้ปัญหาให้เด็กได้อยู่ในสังคมร่วมกัน แต่คิดว่าอาจจะต้องให้ทีมการศึกษาพิเศษวิเคราะห์ดูว่าการให้เด็กพิเศษมาเรียนร่วมกับเด็กปกติจะส่งผลดีหรือไม่ดี หรือจะเป็นการดึงปกติ ให้เรียนช้าลงไปอีก หรือไม่ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดการศึกษาหรือให้ความช่วยเหลือให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษแยกออกมาเรียนต่างหาก จากเด็กปกติ หรือ พัฒนาครูพี่เลี้ยงเด็กเข้าไปเสริมให้มากขึ้น
“จากข้อมูลภาพรวม พบว่า พื้นที่ สพป.น่าน เขต 1 มี โรงเรียนที่มีลักษณะเช่นนี้ค่อนข้างมาก และเมื่อดูทั้งประเทศพบว่าโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กลดลงและไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียนมากถึง 2,000 กว่าโรง ซึ่งตนมองว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของ สพฐ. ที่จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุม กพฐ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเด็กกลุ่มนี้ถ้าจบ ป. 6 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออกจับใจความไม่ได้ด้วยความบกพร่องในด้านต่าง ๆ เราจะต้องหาทางช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ก็พยายามคิดรูปแบบเรียนรวม ควบรวม ทำโรงเรียนคุณภาพซึ่งผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมก็สามารถนำเด็กไปเรียนโรงเรียนเฉพาะทางได้แต่สำหรับกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมก็ต้องอยู่ที่เดิม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องลงมาจัดการศึกษาให้เท่าเทียม ทั่วถึง และ มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมกพฐ. โดยผมมองว่า การจัดการศึกษาให้กับเด็ก เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่สพฐ.จะต้องคิด ซึ่งถ้าอยู่ในอำนาจที่สพฐ.จะทำได้ก็จะดำเนินการทันที แต่ถ้ามันอยู่เหนืออำนาจก็จะต้องเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการหรือรัฐบาลหรืออาจจะต้องประสานให้หน่วยงานอื่นๆเข้ามาช่วย“ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าว