เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดงานประกาศความร่วมมือระหว่างศธ. กับ Google for Education เพื่อร่วมกันพลิกโฉมอนาคตการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยมีผู้บริหารศธ.และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีสกอตต์ หว่อง หัวหน้าฝ่ายด้านการศึกษา Google Asia Pacifc และแจ็คกี้ หวาง Country Director Google ประเทศไทย เข้าร่วมว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศตามนโยบาย “Anywhere Anytime” ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา โดยความร่วมมือกับ Google for Education จะเป็นหลักสูตรและประกาศนียบัตรสำหรับนักเรียนครั้งแรกในโลก โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และสอบวัดระดับความรู้เกี่ยวกับ Google Workspace for Education และ ChromeOS ผ่านระบบ Massive Open Online Courses (MOOC) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลของ Google ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้รับประกาศนียบัตรหลังเรียนจบหลักสูตร

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ยังมีการใช้ Chromebook ในกลุ่มโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มุ่งเน้นการนำ Chromebook ไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสนุกสนานในการเรียนรู้ และลดภาระงานของครูผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนความต้องการพิเศษอีก 20 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่า โครงการวิจัยที่ Google for Education ได้ทำร่วมกับโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ประสบความสำเร็จด้วยการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ควบคู่กับการใช้เครื่องมือจัดการเรียนรู้เชิงรุก ส่งเสริมความคิดเชิงวิพากษ์การแก้ปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาความรู้ด้านไอซีทีของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนนั้น โครงการความร่วมมือ Google for Education จะมีการดำเนินการผุดคู่มือที่เรียกว่า Guideline AI หรือการสร้างความก้าวหน้าทางการศึกษาด้วย AI โดยในปีการศึกษา 2568 คาดว่าจะประกาศใช้นโยบาย Guideline AI ซึ่งอาจจะต้องมีการหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการการใช้งานขึ้น รวมถึงการศึกษาตัวอย่างการใช้ Guideline AI ของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อมาปรับบริบทการใช้งานให้เข้ากับของประเทศไทย อีกทั้งการควบคุมการใช้งานระบบดังกล่าวจะกำหนดการเข้าถึงของเด็กด้วยว่าควรอยู่ในกลุ่มไหนบ้าง”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

แจ็คกี้ หวาง, Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งกับงานในวันนี้ ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่าง ศธ. และ Google ในการพัฒนาการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง Google ให้ความสำคัญกับพันธกิจ ‘Leave No Thai Behind’ ตั้งแต่ปี 2561 โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความปลอดภัยออนไลน์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนไทย เช่น Search และ YouTube เพื่อให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ เชื่อว่าการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของโอกาสและความเท่าเทียม Google จึงมุ่งมั่นที่จะนำผลิตภัณฑ์ที่ดีทีสุดที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนและสร้างทักษะดิจิทัลให้เยาวชน ซึ่งเรามีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ศธ.มาหลายปี ตั้งแต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน เช่น Google Classroom และ Chromebook ไปจนถึงการวิจัยพัฒนาการเรียนการสอน โดยเฉพาะในช่วง COVID-19

.“การประกาศลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทยมูลค่า กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา โดยคุณ Ruth Porat ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการศึกษาและเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อมั่นว่าการลงนามในวันนี้จะช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของการศึกษาไทยให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบาย Anywhere Anytime ได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมก้าวไปสู่สังคมที่เท่าเทียมและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น”แจ็คกี้ หวาง, Country Director, Google กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments