เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบริหารการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว)ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ด้านพัฒนาวิชาชีพ  เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว)  กำลังจะทำโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เฟส 2 เพื่อคัดเลือกคนดี คนเก่ง มาเป็นครู ถือเป็นการเตรียมครูใหม่ หรือครูในอนาคต  ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูระบบจำกัดจำนวนรับ (ระบบปิด) ในสาขาวิชาและพื้นที่ที่เป็นความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครู เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนจะเป็นการเตรียมทักษะใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ของโลกอนาคตด้วย เพราะโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นเรื่องของแนวคิดการผลิตครู แบบ Teacher Training Schools ไม่ใช่กระบวนการ Lecture แต่สถาบันผลิตครูจะใช้โรงเรียนเป็นที่พัฒนาครูให้มากขึ้น คือ เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตครูที่ยึดผู้ใช้ครูเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะยาวไปถึงปี 2583 ซึ่งจะเริ่มรุ่นแรก ปี 2569 และบรรจุได้ในปี 2573 โดยตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ให้กรอบอัตรากำลัง 25 % ของอัตราเกษียณใน 10 ปีข้างหน้ามาแล้ว

“ต้องถือว่าโครงการนี้เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการวิชาชีพครูได้มาก สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้  คือ พื้นที่ไหนขาดแคลนวิชาเอกอะไรก็จะผลิตครูเข้าไปเสริม โดยเฟส 2 นี้จะมีการแก้จุดอ่อนของเฟสแรก ซึ่ง คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบริหารการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของกระทรวง อว ที่มี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เป็นประธาน ได้มีการลงกำกับติดตามและนำข้อมูลครูรุ่นแรกบรรจุเข้าไปอยู่แล้วพบว่า ปัญหา อุปสรรคที่สำคัญ คือ เรื่องของภาษาอังกฤษ ที่บัณฑิตไม่สามารถสอบผ่านภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของโครงการได้ เมื่อภาษาอังกฤษไม่ผ่านก็ไม่สามารถบรรจุได้ ทำให้ปลายทางซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในเขตพื้นที่รอไม่ได้ จนทำให้เกิดการบรรจุช้า ขณะที่โรงเรียนใหญ่รอได้ครูส่วนใหญ่ก็ได้บรรจุไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้ผลของโครงการไม่ค่อยตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่ถือว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสถานศึกษาที่ชัดเจนซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร ถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ แต่ในแง่ของความเก่ง ความมุ่งมั่น ส่วนบุคคลของเด็กดีมาก มีจิตวิญญาณความเป็นครู เรื่องเทคโนโลยีมีความฉลาดในการใช้สื่อ ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเก่งแต่จุดอ่อนคือเรื่องของภาษาทำให้บรรจุได้เพียง 52% เท่านั้น  ทำให้โครงการเฟส 2 ต้องมาสร้างจุดแข็งในเรื่องของภาษาให้มากขึ้น เพราะเรายืนยันว่าเรื่องของภาษาเป็นสิ่งจำเป็น”รศ.ดร.มนตรี กล่าว

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments