เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นำคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นตัวแทนนักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร รวม 82 คน เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางพัฒนานักเรียนไทย ของคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 พร้อมรับฟังโอวาทจากนายกรัฐมนตรี โดยมี นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่ปรึกษาสภานักเรียน คณะกรรมการดำเนินโครงการ และรุ่นพี่สภานักเรียนระดับประเทศ ร่วมรับฟัง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โครงการสภานักเรียน เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนทุกระดับมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีทักษะชีวิต เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ตามวิถีประชาธิปไตย คือ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงการเป็นผู้มีจิตสาธารณะ จิตอาสา ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์ สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้ระเบียบ กฎ กติกา ของสังคม และสามารถนำกระบวนการต่าง ๆ ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของนักเรียนได้ โดยมีการจัดอบรมสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ เป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยของนักเรียน ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนซึ่งเป็นประธานสภานักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร รวม 82 คน มาร่วมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์บนวิถีประชาธิปไตย และใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา 4 วัน พร้อมทั้งนำเสนอข้อคิดเห็นการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและสังคม

สำหรับในปี 2568 นี้ สภานักเรียนระดับประเทศ ได้นำเสนอประเด็นที่ขอรับการสนับสนุนจาก นายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การส่งเสริมค่านิยมหลัก “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งคณะกรรมการสภานักเรียนจะนำแนวทาง “สืบสานความดี ต่อยอดสิ่งดีๆ เพื่อแผ่นดินไทย” โดยร่วมกับเพื่อนสภานักเรียนทั่วประเทศศึกษาพระราชกรณียกิจ หลักการทรงงาน หรือพระปรีชาสามารถ ของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ต่าง ๆ อาทิ การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ วรรณกรรม กีฬา การละเล่นหรือการแสดง แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมสภานักเรียนในโรงเรียน จัดทำโครงการ “TSC น้อมนำพระราชกรณียกิจสู่การต่อยอดพัฒนาสภานักเรียน” มาปรับใช้ในกิจกรรมสภานักเรียนและชีวิตประจำวัน แล้วแบ่งปันประสบการณ์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ พร้อมทั้งเชิญชวนสภานักเรียนทั่วประเทศ ทำกิจกรรมจิตอาสาหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมความรักและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ

2) ความรักโรงเรียน รักเพื่อน และน้อง สร้างโรงเรียนแห่งความสุข ให้นักเรียนรักโรงเรียน รักเพื่อน เคารพพี่ ดูแลน้อง และร่วมป้องกันให้ทุกคนห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้าและรู้เท่าทันภัยออนไลน์ โดยขอรับการสนับสนุนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ผลิต และผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตามและทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบข้อมูลออนไลน์พร้อมทั้งเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับออนไลน์อย่างจริงจัง พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนโครงการภายใต้ “กิจกรรม TSC โรงเรียนดีที่หนูรัก”

3) ZERO DROPOUT ติดตามและค้นหาเด็กที่ตกหล่น ไม่ได้เข้าเรียน หรือออกกลางคัน ให้กลับเข้ามาเรียนในระบบ กำหนดแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวัง ติดตาม ไม่ให้มีเด็กตกหล่นและออกกลางคัน โดยสภานักเรียนทั่วประเทศจะร่วมขับเคลื่อน “กิจกรรมสภานักเรียนชวนเพื่อนกลับมาเรียน (TSC ZERO DROPOUT) ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน

จากนั้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ไปเป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2568 ของ สพฐ. โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ  กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์  รองเลขาธิการ กพฐ. และตัวแทนสภานักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 82 คน ประกอบด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 78 คน และนักเรียนจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 4 คน รวมถึงผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูที่ปรึกษาสภานักเรียน คณะกรรมการดำเนินโครงการ และรุ่นพี่สภานักเรียนระดับประเทศ รวมกว่า 200 คน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมแกรนด์ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการสภานักเรียนเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทย รู้รักสามัคคี เทิดทูนสถาบัน ปลูกฝังพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาอารยประเทศ เด็กและเยาวชนจึงเป็นความหวังในการธำรงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยเด็กและเยาวชนของชาติที่จะเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมสภานักเรียนให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง จึงขอฝากให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ตามหลักวิถีประชาธิปไตย ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการมีจิตอาสาและพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ บนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาล ผมหวังว่าสภานักเรียน สพฐ. จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “ฉลาดรู้  ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่จะทำให้นักเรียนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ มีความสามารถใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีความสุข ขอให้นักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนในที่นี้ นำประสบการณ์ที่มีคุณค่าไปถ่ายทอดให้เพื่อนนักเรียนในโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสังคมรอบข้าง เพื่อขยายผลให้บังเกิดอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้ได้มีโอกาสนำคณะสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 เข้าพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านนายกฯได้ให้โอวาทและรับฟังความคิดเห็นจากน้อง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากนี้น้อง ๆ ก็จะประชุมหาแนวทางการทำงานเพื่อที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปขับเคลื่อนในโรงเรียนต่อไป ซึ่งผมก็ได้มอบแนวทางในการดำเนินการ โดยให้น้อง ๆ ใช้หลัก “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” คือรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ไม่ว่าจะเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ เรื่องใดที่ยังไม่รู้ก็ให้แสวงหา เพิ่มเติม ทั้งจากเพื่อน คุณครู หนังสือ หรือสื่อต่าง ๆ เมื่อรู้แล้วก็อยากให้มีความฉลาดคิด คิดอย่างมีเหตุมีผล หรือคิดพิจารณาว่าสิ่งที่รู้มาถูกต้องไหม จากนั้นก็คือฉลาดทำ เมื่อรู้ว่าอะไรที่มีประโยชน์ ก็ให้เลือกทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์กับตนเอง โรงเรียน และประเทศชาติ ตามแนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อพัฒนานักเรียนไทยและยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ   กล่าวว่า สพฐ. ได้จัดทำโครงการสภานักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งกิจกรรมสภานักเรียนจะช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะทางสังคม เรียนรู้กระบวนการดำเนินงานของสภานักเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์ ให้นักเรียนทุกคนได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่ดี เปิดใจยอมรับความต่างและความหลากหลายในสังคม เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ภายใต้ระเบียบ กฎ กติกาของสังคม

“วันนี้ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 ซึ่งได้เห็นเด็กรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ พร้อมทั้งได้นำปัญหาที่พบเจอในโรงเรียนและสังคมถ่ายทอดให้กับนายกรัฐมนตรี และยังได้เป็นแบบอย่างให้กับน้อง ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสมาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ อยากให้ตัวแทนสภานักเรียนที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นำข้อคิดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ฝากไว้ คือ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” “เรียนดี มีความสุข” และข้อคิดจากนายกรัฐมนตรี “ทุกโอกาสคือการเรียนรู้” นำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนของเราที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สำหรับการอบรมสัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 10 มกราคม 2568 มีกิจกรรมประกอบด้วย สภานักเรียนกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเรียนทำให้มีงานทำ กิจกรรมให้ทำงานเป็น ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในยุคดิจิทัล สภานักเรียนกับประวัติศาสตร์ชาติไทย การเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากร และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างดียิ่ง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments