เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า ในการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ตนได้กำชับไปยังเขตพื้นที่การศึกษาให้ดูแลช่วยเหลือโรงเรียนในภาคใต้ที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ซึ่งจากการรายงานพบว่าโรงเรียนที่ประสบปัญหาที่เกิดจากอุทกภัยน้ำท่วม จำนวน 1733 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด 29 เขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษด้วย ซึ่งตนได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เยียวยาในเบื้องต้น โดยการจัดถุงยังชีพให้กับนักเรียนและครูที่ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งบางพื้นที่น้ำท่วมมิดหลังคาเรือนและถือว่าเป็นรอบที่สามของภาคใต้ที่ท่วมหนักมากในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้สถานศึกษาเปิดเป็นแหล่งพักพิงให้กับชาวบ้าน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ที่เดือดร้อนเข้ามาพักอาศัยได้ พร้อมกันนี้ก็ขอให้ประสานงานกับทุกภาคส่วนในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้นำท้องถิ่นให้ความร่วมมือและดูแลช่วยเหลือ ทั้งนี้หลังจากน้ำลดแล้วก็จะมีทีมงานลงไปดูแลเยียวยาช่วยเหลือแก้ไข เพื่อให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับ โครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ของสพฐ.ตนได้รับรายงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)บุรีรัมย์ เขต2 ยืนยันว่าได้ติดตามเด็กครบถ้วน 100% แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบให้กับเขตพื้นที่ฯอื่น ๆ ได้เร่งรัดดำเนินการ ซึ่งทุกเขตพื้นที่กำลังดำเนินการกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้เด็กทุกคนได้กลับเข้ามาสู่ระบบ ของ สพฐ.ที่กำหนดให้เป็น Obec Zero Dropout พาน้องกลับมาเรียน ถ้าน้องไม่กลับมาเรียน ก็ให้นำการเรียนไปให้น้อง ซึ่งทุกเขตพื้นที่กำลังสำรวจข้อมูลและดำเนินการลงพื้นที่กันอย่างเข้มข้น