เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 คณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและพัฒนา วุฒิสภา นำโดย ดร.กมล รอดคล้าย ประธานคณะกรรมาธิการ และคณะ เดินทางเข้าศึกษาดูงานด้านการจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่านจำนวน 2 แห่ง คือ การจัดกิจกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการกิจกรรม Learn to Earn การสร้างป่าสร้างรายได้ บาริสต้าน้อยบนดอยสูง ณศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านเด่น ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ และการจัดกิจกรรม 1 อำเภอ 1 อาชีพ ผลิตภัณฑ์จากหญ้าสามเหลี่ยม การสาธิตอาชีพการทำสบู่เกลือ การทำยาหม่องสมุนไพรจากหญ้าเอ็นยืด และผลิตภัณฑ์แปรรูปมะเขาควาย การแสดงผลงาน Best Practice การปลูกผักปลอดสารพิษ และห้องสมุดน้อยบนดอยสูง รวมถึงชมนิทรรศการวิถีชนเผ่าลัวะปรัย ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านน้ำแพะใน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ
โดยมีนางสาวดรุณี กาบบัว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่าน ผู้บริหารสถานศึกษา 15 แห่ง และบุคลากรในสังกัด สกร.ระดับอำเภอบ่อเกลือ ร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ซึ่งการลงพื้นที่ศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงรับฟังข้อมูลในมิติต่าง ๆ ของสถานศึกษา เพื่อเรียนรู้การจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดน่าน ซึ่งจะนําข้อมูลที่ได้รับนําไปจัดทำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป
ดร.กมล กล่าวว่า การจัดการศึกษาของ สกร.หรือ กศน.เดิมนั้น เป็นรูปแบบพิเศษสกร.สามารถพัฒนาคนในมิติต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ของ สกร. ได้ทุกที่ ทุกเวลา” โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มีหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง 3) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ทำให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตามความพร้อมและศักยภาพของบุคคล เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของทุกคนในการได้รับการศึกษา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงให้ได้รับการศึกษาเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ