วันที่ 13 ธันวาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม และมี นายสุรพงษ์ เป้ากลาง ผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึงผู้บริหารของ ศธ. ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า การศึกษา คือ รากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างที่ตนได้กล่าวไว้เสมอว่า เครือข่ายทางการศึกษา “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” จะร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” อาทิ คุณมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ต้น รวมถึงท่านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ความตั้งใจของท่าน นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้โรงเรียนในโครงการมีศักยภาพที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับเยาวชนไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการ โรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School Project จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เยาวชนไทยจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาตนเอง และมีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ นอกจากนี้ โครงการยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย ผมหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม “จับมือ” “ร่วมพัฒนา” “ขยายผล” ยกระดับการศึกษาในระดับประเทศ และเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นพลังนำพาการศึกษาไทยให้ก้าวไปทัดเทียมนานาประเทศต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ประเทศไทยของเรามีการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนมาถึงการปฏิรูปรอบที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2552 แต่คุณภาพการศึกษาของประเทศโดยรวม ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 ได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กำหนดให้จัดการศึกษาในรูปแบบ “สถานศึกษาร่วมพัฒนา” (Partnership School) โดยมอบหมายให้นายมีชัย วีระไวทยะ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ขับเคลื่อนโครงการนี้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต
“ในส่วนของ สพฐ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของบริบทแต่ละชุมชน ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” โดยใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รวมถึงพัฒนานวัตกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การสร้างความร่วมมือ การบริหารวิชาการ การระดมทรัพยากรและงบประมาณ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาผู้เรียน ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรจากผู้สนับสนุนและทุกภาคส่วน พร้อมทั้งพัฒนาโรงเรียนในโครงการให้มีศักยภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จบแล้วมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต สุดท้ายนี้ ตนเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาของประเทศไทยต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนในการร่วมกันสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถของประเทศ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการลงทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ก็คือเรื่องของทุนมนุษย์ ซึ่งจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เด็ก เพื่อปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องและที่สำคัญการทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงรุก ภาคอุตสาหกรรมจะได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปแค่ไหน เราต้องการบุคลากรประเภทใด เพื่อจะได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องและที่สำคัญวันนี้เด็กจะต้องเรียนและปฏิบัติไปพร้อมกัน ทั้งเรียนและทำงานจริง ฝึกงานจริงจะได้มีความเข้าใจ เมื่อจบแล้วจะสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
“การพัฒนาโครงการในครั้งนี้ทำให้เอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และได้เข้ามาร่วมมือตั้งแต่ต้น ไม่ใช่แค่บริจาคเงินเหมือนในอดีต ต้องขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะรมว.ศึกษาธิการ และทีมผู้บริหารที่เปิดกว้างทำให้เอกชนได้มีส่วนเข้ามาสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะตอนนี้มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีการนำเอไอเข้ามามากขึ้น ที่ทำให้ต้องการคนที่มีความรู้มีทักษะอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราจะต้องทำให้บุคลากนรมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เด็กไม่ใช่มาฝึกตอนแก่ ซึ่งจะช้าเกินไป ดังนั้นคิดว่าการเริ่มต้นครั้งนี้เป็นการร่วมงานที่ถูกต้องและเป็นการร่วมมือกันที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างแท้จริง”ประธานสภาอุตฯกล่าวและว่า สำหรับเรื่องหลัก ๆ หรือทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ คือ เรื่องของสะเต็ม นั่นคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และ คณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้ โดยจะต้องร่วมกันปลูกฝังและพัฒนาด้วยความรวดเร็ว ให้ทัน และ มีจำนวนที่เพียงพอ