เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา Buriram Zero Dropout Model (BZDM) ว่า ตามที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนโครงการ Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น โดยมีข้อสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและสถานศึกษาในสังกัดดำเนินการสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 6- 15 ปีที่หลุดจากระบบการศึกษา และเนื่องจาก สกร.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์มีการดำเนินการที่ค่อนข้างก้าวหน้า จึงมอบให้ทำเป็น Buriram Zero Dropout Model (BZDM) เป็นแนวทางการดำเนินงานของพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป  ซึ่ง นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร.ก็ได้มอบหมายให้ตนซึ่งเคยเป็น ผอ.สกร.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและวางแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีคณะทำงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมดำเนินการ มีการทำโฟกัสกรุ๊ปร่วมกับภาคีเครือข่ายที่จัดการศึกษาในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นต้น

รองอธิบดี สกร. กล่าวต่อไปว่า  ในการดำเนินการเราใช้ข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาของไทย อายุระหว่าง 3-18 ปี มีมากถึง 1.02 ล้านคน (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566) มาโฟกัสที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบว่ามีมากกว่า 10,000 คน แต่ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้ยึดตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ จึงมุ่งไปที่เด็กอายุ 6 – 15 ปี ส่วนที่อายุมากกว่านี้ให้เป็นการศึกษาภาคความสมัครใจ ทำให้โจทย์ของจังหวัดบุรีรัมย์ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 4,390 คน และจากการลงพื้นที่สำรวจได้พบตัวตน 1,401 คน หรือประมาณ 31% ส่วนจำนวน 2,989 คนไม่พบตัวตน โดยที่พบตัวตน 1,401 คน นั้นกำลังศึกษาอยู่ 811 คน โดยเรียนอยู่กับทุกหน่วยงานทั้ง สพฐ. สช. อาชีวะ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และในจำนวนที่พบตัวตนนี้เมื่อแยกละเอียดลงไปก็พบว่ามีคนที่เคยเรียนแล้ว 76 คน ซึ่งเราก็มีข้อมูลเชิงลึกว่าจบระดับชั้นไหนมาบ้าง ดังนั้น สกร.ก็ได้สำรวจเพื่อมาวางแนวทางแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ซึ่งอาจจะมาเทียบหน่วยกิตให้ก็จะสามารถช่วยลดระยะเวลาในการเรียนได้ หรือต้องการให้ส่งต่อก็จะดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มคือไม่เคยเรียนเลย 500 กว่าคน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคนพิการ ซึ่งในการเก็บข้อมูลก็ได้มีการจำแนกว่าเป็นคนพิการประเภทไหน เพื่อจะมาจัดว่ากลุ่มไหนเรียนได้ กลุ่มไหนเรียนไม่ได้ แต่ในการเก็บข้อมูลก็จะมีการสอบถามด้วยว่าต้องการรับความช่วยเหลือเรื่องอะไรเพื่อเป็นประเด็นในการส่งต่อตามที่รัฐมนตรีมอบหมายภารกิจเป็นโมเดล ว่า จะต้องป้อง-ค้นหา-ช่วยเหลือ-ดูแล-ส่งต่อ เป็นวงจรที่สมบูรณ์ต่อไป

“สำหรับกลุ่มที่ยังไม่พบตัวตน 2,989 คน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ก็พบว่า ไปต่างประเทศถึง 1,800 กว่าคน  มีบางคนไปบวชและ บางส่วนก็อยู่ในเรือนจำ แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ทางสกร.ก็จะต้องติดตามค้นหาต่อไป โดยจะไปตรวจสอบซ้ำกับผู้นำชุมชน ส่วนที่เหลืออีก 900 กว่าคนข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ สกร.ก็จะนำเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไปประสานกับทางกระทรวงมหาดไทยให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ตั้งแต่ได้ข้อมูลมาจาก กสศ.จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 เดือนแล้ว มีการย้ายถิ่นฐานทะเบียนบ้านไปที่ไหนบ้างเพื่อเข้าสู่วงจรการค้นหาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในจำนวน 4,000 กว่าคน มีคนที่เสียชีวิตแล้ว 16 คน ซึ่งเราก็ไปตรวจสอบกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งเช่นกัน” นายเอกราชกล่าวและว่า สกร.จังหวัดบุรีรัมย์พยายามติดตามให้ครบตามตัวเลขที่ได้รับและดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยทั้งหมดนี้ จะสรุปภายในวันที่ 15 ธันวาคม นี้ เพื่อนำเข้ารายงานในที่ประชุมประสานภารกิจในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลซ้ำอีกครั้งซึ่งใกล้จะถึง 100% แล้ว”รองอธิบดี สกร.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments