เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ครั้งที่ 49/2567 โดยนำข้อสั่งการของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานที่ได้สั่งการไปแล้ว โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช, นายพัฒนะ พัฒนทวีดล, นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานกิจกรรม “กล่องความรู้ สู่ความสุข” โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ มีความห่วงใยน้องๆ นักเรียนที่กำลังเตรียมตัวสอบ และได้เน้นย้ำให้ สพฐ. จัดการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยลดภาระของผู้ปกครอง และเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime สพฐ. จึงได้จัดกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดความถนัด (TGAT และ TPAT) จำนวน 8 วิชา ระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2567 ผ่านระบบออนไลน์ ช่องทาง OBEC Channel ของ สพฐ. ทั้งแพลตฟอร์ม Youtube, Facebook และ TV ซึ่งในระยะเวลา 5 วัน มีนักเรียนทั่วประเทศสนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยรับชมผ่าน Youtube จำนวนมากถึง 5 แสนครั้ง ร่วมแสดงความเห็นกว่า 1.1 แสนข้อความ และรับชมผ่าน Facebook มากกว่า 2 แสนครั้ง ร่วมแสดงความเห็นกว่า 1.1 หมื่นข้อความ โดยจากการสำรวจความคิดเห็น นักเรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมาก และต้องการให้จัดกิจกรรมนี้ต่อไปถึงร้อยละ 98.75
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อมา คือ ความคืบหน้าการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการพัฒนาทักษะภาษา โดยการพัฒนาการจัดการเรียบการสอนที่ส่งเสริมทักษะในอนาคต (Future Skill) โดยใช้เกมเทคโนโลยีจำลองสถานการน์ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงการขับเคลื่อนอีสปอร์ต (ESPORTS) ต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษา 2025 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง และการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีฝาแฝดเสมือนจริงบนโลกดิจิทัล (Digital Twin 3.O) สำหรับ สพฐ. ซึ่งในส่วนของ Future skill ได้ทำ MOU ร่วมกับ มทร.สุวรรณภูมิ ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ส่วนอีสปอร์ต ได้ทำ MOU ร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา มีนักเรียนสมัครแข่งขันอีสปอร์ตของ สพฐ. จำนวน 1,200 ทีม (นักเรียน 8,400 คน ครู 1,200 คน) และยังอยู่ระหว่างการรับสมัครจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่การพัฒนาครูด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง และ Digital Twin อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติหลักการโครงการ และจัดทำแผนการดำเนินโครงการต่อไป
“นอกจากนี้ ยังได้หารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น การแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบ Thailand Zero Dropout การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เครือข่ายนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน การพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน ทำให้มีรายได้ระหว่างเรียน-จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ การดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ การประเมินผลการศึกษาผ่านระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) การสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียน เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนและครูทุกคน “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว