เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ทำให้น้ำเอ่อล้นพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และสถานศึกษาที่อยู่อาศัยของประชาชน จึงมอบให้หน่วยงานในกำกับเปิดศูนย์พักพิงและโรงครัว ณ สถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้สั่งการไปยังสถานศึกษาเร่งดำเนินการจัดอาชีวะจิตอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน แบ่งเป็น 1.จัดศูนย์ช่วยเหลือพักพิงผู้ประสบภัย ซึ่ง สอศ.เปิดศูนย์พักอาศัยให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา จำนวน 12 แห่ง รองรับประชาชนผู้ประสบภัยแล้วกว่า 2,000 คน ในส่วนของนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากร ได้พักอาศัยในสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว จัดยานพาหนะรับ-ส่ง ในพื้นที่ที่เข้าถึง ให้ความช่วยเหลือการขนย้ายสิ่งของและด้านต่างๆ ตามความจำเป็น 2. จัดตั้งครัวอาชีวะบริการอาหารปรุงสุก อาหารกล่อง และน้ำดื่ม แล้ว 3,000 ชุด 3.จัดศูนย์ FIX IT CENTER ฟื้นฟู ซ่อมบำรุง หลังน้ำลด ให้สถานศึกษาที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความพร้อมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตรวจเช็คจุดบริการให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทางการเกษตร ฟื้นฟูบ้านเรือน ชุมชน และสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบเช็คเบื้องต้นด้านระบบไฟ้ฟ้าในบ้านเรือนชุมชน 4. ตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดและผู้อำนวยการสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรายงานความคืบหน้ากลับมายัง สอศ. และประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมูลนิธิในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือตามเหตุจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ให้ดำเนินงานด้วยความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีรายงานสถานศึกษาสังกัด สอศ. พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายอย่างน้อย 15 แห่ง ศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพประจำอำเภอห่างไกล 20 แห่ง โดยให้สถานศึกษาตรวจสอบความเสีย อาทิ อาคารเรียน หอพักนักเรียน นักศึกษา วัสดุ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน พร้อมรายงานกลับมายัง สอศ. ตามข้อสั่งการ รมว.ศธ. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในเยียวยาและซ่อมแซมต่อไป ในส่วนสถานศึกษาที่จำเป็นจะต้องปิดการเรียนการสอน มอบให้เป็นอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาได้ตามความเหมาะสม
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ยังต้องเตรียมรับมือพายุระลอกในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจากจะมีพายุเข้าอีก 1 ลูกซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา (จากการได้รับรายงานข่าว) ขอให้สถานศึกษา เตรียมความพร้อมและรับมือในเรื่องของความปลอดภัย ศูนย์พักอาศัย อาหารและน้ำดื่ม รวมถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ