เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะมีการประชุมเรื่องการจัดทำคำของบประมาณ ปี 2569 ในเร็ว ๆ นี้ ตนได้ให้นโยบายว่าให้เน้นเรื่องนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ  โดยเฉพาะการศึกษาเท่าเทียมที่ทำให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาทุกคน และทำให้เด็กนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบ โดยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ระยะที่ 2 ทั้งแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงการใช้ AI มาใช้ในการสอนภาษาต่างประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับการประชุมประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ วันนี้ที่ประชุมได้หารือถึงการขับเคลื่อน “โครงการ Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ของนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้สภาการศึกษาเป็นเจ้าภาพหลักในการรวบรวมข้อมูลเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้งหมด  โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทก.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) รับผิดชอบฐานข้อมูลในการดำเนินงาน ทั้งนี้ตนได้กำชับว่าในการดำเนินการให้ใช้ฐานข้อมูลของ ศทก.สป.ศธ. เป็นหลักแล้วนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การทำงานเรื่อง Thailand Zero Dropout มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“กระทรวงศึกษาธิการ จะพยามลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบให้ได้มากที่สุด โดยมิติในการทำงานของผม คือ ป้องกัน แก้ไข และ ส่งต่อ โดยป้องกัน คือ การมีมาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องเพิ่มความเอาใจใส่ในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น แต่ถ้าเด็กหลุดออกจากระบบไปแล้วก็ต้องแก้ไขเอาเด็กกับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้เริ่มแก้ไขไปแล้วด้วยการทำโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการศึกษาไปให้น้อง แต่ถ้าเด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบจริง ๆ ก็จะมีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการส่งเสริม ดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษาหรือได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ส่วนการส่งต่อ เช่น กรณีบิดา มารดา ย้ายถิ่นฐานก็จะมีวิธีดำเนินการที่จะส่งต่อเพื่อให้เด็กได้เรียนต่อเนื่อง โดยมอบให้ สพฐ.ไปจัดทำแพลตฟอร์มในการส่งต่อเด็กแล้ว” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

นอกจากนี้ที่ปะชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ผ่านการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่ง สพฐ.ได้นำเสนอแผนการขยายผลพัฒนาและสร้างข้อสอบความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ผ่านระบบออนไลน์ Google Classroom 78 ห้องเรียน โดยมีแกนนำ 465 คน นำเข้าระบบเรียนรู้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 245 คน ทำหน้าที่กำกับ และผู้อำนวยการโรงเรียน 29,152 คน ร่วมติดตามและสะท้อนผล  รายงานการเข้าใช้ระบบ Computer Based Test ภาพรวม 245 เขตพื้นที่การศึกษา มีนักเรียนเข้าใช้กว่า 7 แสนคน (756,814 คน) คิดเป็นร้อยละ 91.66 ของจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ส่วนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สสวท.) ได้รายงานการจัดทำวีดิทัศน์การอบรม เรื่องการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ให้สามารถอบรมย้อนหลังผ่าน YouTube ด้านการอ่าน 9 ตอน ด้านวิทยาศาสตร์ 8 ตอน และด้านคณิตศาสตร์ 6 ตอน (เช่น การบรรยายพิเศษในการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูแกนนำสร้างข้อสอบฯ การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามกรอบการประเมิน PISA กรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน แนวทางการวัดความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น)

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม สมาพันธ์การเขียนโปรแกรมโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 8 พันธมิตร 45 ประเทศ ประจำประเทศไทย และประธานมูลนิธิพัฒนามนุษย์นานาชาติโฟกัส ได้นำคณะทีมชาติไทยที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมประกวดโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ ด้านนวัตกรรมการสร้างสรรค์โปรแกรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์สากล ครั้งที่ 8 (The 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ ประเทศฟินแลนด์ เข้าพบ โดยได้มีการคัดเลือกตัวแทนทีมชาติไทย จำนวน 43 คน เข้าร่วมการประกวดระดับนานาชาติกับตัวแทนประเทศต่าง ๆ อีก 65 ประเทศทั่วโลก และมีตัวแทนทีมชาติไทย เข้ารับรางวัลครั้งนี้ 6 ราย ตามรางวัลดังนี้

– อาจารย์กำจร ยั่งยืน รองผู้อำนวยการโรงเรียนรพีเลิศวิทยา ลำพูน (สช.) ได้รับรางวัลเหรียญทอง ROBBO Master 18+ จากการแข่งขัน 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024

– นายอรรณพ แตงอ่อน ครูโรงเรียนไตรประชาสามัคคี นครสวรรค์ (สพฐ.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ROBBO Master 18+ จากการแข่งขัน 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024 และ รางวัลเหรียญทองแดง Scratch Master จากการแข่งขัน 7th International Scratch Creative Programming Olympiad 2023

– เด็กชายภาวิน พัฒนาเวคิน โรงเรียน HeadStart International School Phuket ภูเก็ต (สช.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน Scratch Kid อายุ 7-8 ปี จากการแข่งขัน 8th International Scratch Creative Programming Olympiad 2024

– นางสาวภาวิณี ไชยภาค บุคคลทั่วไป ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ROBBO Master 18+ จากการแข่งขัน 7th International Scratch Creative Programming Olympiad 2023

– เด็กชายวัชรวิชญ์ กลิ่นสุคนธ์ โรงเรียน Newton Sixth Form กรุงเทพมหานคร (สช.) ได้รับรางวัลเหรียญเงิน Scratch Teen จากการแข่งขัน 6th International Scratch Creative Programming Olympiad 2022

– นายภูมิมนัส แสงแก้ว โรงเรียนรัษฎา ตรัง (สพฐ.) ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง Scratch Youth จากการแข่งขัน 6th International Scratch Creative Programming Olympiad 2022

“ขอแสดงความชื่นชมกับทีมชาติไทย และทางสมาพันธ์ฯ ที่จัดโครงการดีๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ครู นักเรียน เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปร่วมการประกวดฯ จนได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย  โดยปีนี้เป็นปีที่พิเศษที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดฯ โอลิมปิกวิชาการนานาชาติด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์โปรแกรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เป็นปีแรกด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments