เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ดร.พิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ว่าที่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ณ โรงแรมเบลล่า บี บางกรวย จังหวัดนนทบุรี ว่า การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาฉบับใหม่ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 19 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งสายงานนิเทศการศึกษาต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์และต้องได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ประกอบกับมติ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ได้พิจารณาแนวทางการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูฯ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ได้ศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้ความสามารถและศักยภาพในการแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก
ดร.พิเชฐร์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 1 คือ การกำหนดสมรรถนะและประสบการณ์ของตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ประเด็นที่ 2 คือ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ และประเด็นที่ 3 คือ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกันในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลฯ สำหรับตำแหน่งศึกษานิเทศก์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศึกษานิเทศก์ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคัดกรองศึกษานิเทศก์แบบใหม่ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องผ่านการพัฒนาสมรรถนะผ่านระบบ e-Learning ก่อนเข้ารับการคัดเลือก และเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการพัฒนาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 วัน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องมีใบรับรองการผ่านการพัฒนาสมรรถนะศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของศึกษานิเทศก์และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังมีกรอบแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ตามมาตรา 50 สามารถยื่นขอมีวิทยฐานะชำนาญการผ่านระบบ DPA โดยใช้ PA ร่วมกับ Project-based Development ในการประเมิน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน
“เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาศึกษานิเทศก์คือการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งให้ศึกษานิเทศก์มีความรู้ความสามารถในการแนะนำและชี้แนะแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศในภาพรวม” ดร.พิเชฐร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ผลจากการประชุมจะนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพัฒนาศึกษานิเทศก์ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาวการณ์การจัดการเรียนรู้ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของประเทศให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป