ดร.อรรถพล สังขวาสี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอดีตเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า แม้ตนจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงติดตามการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคนซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงศึกษาธิการโดยตลอด โดยประเด็นที่ห่วงใยอย่างยิ่ง คือ การปรับตัวของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของคนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ห่วงใยมาตั้งแต่ยังรับราชการจนถึงปัจจุบัน เพราะการปรับตัวขององค์กรใหญ่ที่ค่อนข้างล่าช้า และไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งช่องว่าง (Gap) ห่างออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะส่งผลให้เกิดวิกฤตแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเช่น
ปัจจุบันการเติบโตของ Gig Economy และ Gig Workers เติบโตขึ้นมาก โดย Gig Economy คือเศรษฐกิจที่ดำเนินการอย่างยืดหยุ่น มีการแลกเปลี่ยนแรงงานและทรัพยากรผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกในการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายอย่างแข็งขัน โดยองค์กรต่าง ๆ จะจ้างผู้รับเหมาอิสระและฟรีแลนซ์แทนที่จะเป็นพนักงานประจำ ไม่จำเป็นต้องมีตารางเวลาที่เป็นระบบ การจัดระบบที่คล้ายคลึงกันนี้พบเห็นได้ในบริษัทต่าง ๆ เช่น Uber DoorDash และ Airbnb โดยลักษณะนี้ Gig Economy จึงส่งผลให้บริการต่าง ๆ ถูกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งสามารถเสนอทางเลือกที่ไม่เหมือนใครและรวดเร็วกว่าให้กับผู้บริโภคได้ และทำให้เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเศรษฐกิจรูปแบบนี้ต้องการคนทำงานที่มีลักษณะแตกต่างจากเดิมที่เรียกว่า Gig Workers คือคนทำงานที่ไม่ใช่งานประจำแต่ใช้วิชาชีพของตนเองในการทำงานให้กับหลาย ๆ องค์กรที่ต้องการความชำนาญในการทำงานของพนักงานคนนั้น ดังนั้น พนักงานหนึ่งคนสามารถทำงานให้กับองค์กรต่าง ๆ ได้มากกว่าหนึ่งองค์กร และรับรายได้จากการทำงานนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีของคนรุ่น Gen Z
“เมื่อหันกลับมามองการศึกษาและการพัฒนาคนของบ้านเรา จึงรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้การขับเคลื่อนเรื่องธนาคารหน่วยกิต ซึ่งจะเป็นช่องทางรองรับการเตรียมคนสำหรับเศรษฐกิจรูปแบบนี้ยังมีข้อจำกัดมาก โดยเรื่องนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ริเริ่มและมีการออกนโยบายตั้งแต่ผมยังรับราชการอยู่ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยก้าวหน้ามากนักจนช่องว่างการเตรียมคนขยับตัวไม่ทัน”ดร.อรรถพลกล่าว