ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำสื่อมวลชนสัญจร ลงพื้นที่ โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ สถานศึกษาท้องถิ่นที่สร้างมาตรฐานแบบก้าวกระโดดด้วยการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาก้าวข้ามจากระดับ “ปรับปรุง” สู่ระดับ ”ดีมาก“ พร้อมอินไซด์แนวคิด 5 ร่วมและ “PALADPUK MODEL“ที่ขจัดจุดบกพร่องทางการเรียนการสอนได้อย่างหมดจดยกระดับผลการสอบระดับชาติที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดย นางทองมี บุญศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก กล่าวว่า ที่ผ่านมานักเรียนของโรงเรียนมีผล สัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่ำ และอาคารสถานที่ก็เสื่อมโทรม ผอ.จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงคุณภาพสถานศึกษากับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. โดยโรงเรียนได้นำผลการประเมินภายนอกไปปรับใช้อย่างจริงจังร่วมกับการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบ “PALADPUK MODEL“ ภายใต้ 5 แนวคิด คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมประเมินผล และร่วมชื่นชม ทำให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของและร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือโรงเรียนได้นำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข และนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)บุรีรัมย์ เขต 1 มาใช้ ทำให้โรงเรียนประสบผลสำเร็จในเชิงประจักษ์เช่น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง การทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการอ่าน (Reading Test : RT) การทดสอบความสามาถพื้นฐานของผู้เรียนระดับชาติ (National Test : NT) หรือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(Ordinary National Educational Test : O-NET) สูงกว่าระดับประเทศ และ ยังมีผลงานดีเด่นด้านกีฬา รวมถึงได้รับการประกันคุณภาพภายนอกจากสมศ.ปี พ.ศ. 2567-2571 ด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนอย่างมาก
นายสุรศักดิ์ พันธ์ เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากนโยบายของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างมากในการสร้างผลลัพธ์ทางการศึกษาด้วยแนวคิด เรียนดี มีความสุข ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – สร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้เรียนทุกคน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและชนบท มักประสบปัญหาขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรต่างๆ ดังนั้นจึงได้มอบนโยบายให้ สมศ.เร่งดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกกลุ่มโรงเรียนดังกล่าว เพื่อช่วยสะท้อนสภาพที่เป็นจริงของโรงเรียนให้ทราบถึงจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง ตลอดจนแนวทางในการพัฒนา พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้และติดตามผลอย่างใกล้ชิด ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยให้บรรลุเป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข”
“ความสำเร็จของโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส หรือโรงเรียนที่เคยมีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง แต่หากสถานศึกษา นำข้อเสนอแนะไปปรับใช้อย่างจริงจังก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและได้รับผลการประเมินที่ยอดเยี่ยมได้ เพราะข้อเสนอแนะของ สมศ. สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา และปฏิบัติได้จริง” นายสุรศักดิ์กล่าวและว่า รมว.ศึกษาธิการจะย้ำเสมอว่า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสก็ต้องให้ความสำคัญเพราะกลุ่มโรงเรียนดังกล่าวแม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่ความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้สามารถเข้าใจบริบทและความต้องการของผู้เรียนได้อย่างลึกซึ้ง สามารถปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือ ใกล้บ้าน ซึ่งเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็คงไม่ต้องการให้ลูกหลานไปเรียนไกลหูไกลตา ดังนั้น หากทุกฝ่ายช่วยกันดูแลพัฒนาโรงเรียน ทำงานร่วมกันตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน เด็กก็จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า การประเมินภายนอกของ สมศ.รอบนี้ มีโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,013 แห่ง มีเพียง 7 แห่งที่ผลประเมินก้าวกระโดด โดยในจำนวน 7 แห่งนี้ มี 5 แห่งที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้ของ สมศ. ที่ทำร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งโครงการได้เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนอย่างครอบคลุมรอบด้าน โดยมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เข้าไปช่วยวิเคราะห์ เสนอแนะ และนำไปสู่การวางแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาไปสู่แผนปฏิบัติการประจำปี และนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นการดำเนินการแบบครบวงจรครอบคลุมทุกด้านทั้งด้านเด็ก ครูและผู้บริหาร