เมื่อวันที่ 6 มี.ค.นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีที่มีการรายงานข้อมูลนักเรียนที่เป็นเท็จ เพื่อขอรับเงินอุดหนุนรายหัวจากหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดศธ.ลงไปสำรวจรายชื่อนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีตัวตน หรือที่เรียกว่า”เด็กผี”แล้วว่า เรื่องนี้ศธ.ได้เอาจริงเอาจัง ซึ่งหลังจากมีข่าวว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.)ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนและพบว่ามีนักเรียนที่ไม่มีตัวตนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และจากนั้น สพฐ.ก็ได้ลงไปสุ่มตรวจจำนวนนักเรียนในโรงเรียนของสพฐ.อีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนพฤศจิกายน พบว่ายังไม่มีรายงานเพิ่มเติมว่ามีสถานศึกษาใดแจ้งตัวเลขเท็จ ทั้งนี้ตนคิดว่าถึงตอนนี้คงไม่มีใครกล้าแจ้งตัวเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าเราต้องลงไปสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอมิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีก
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ถ้าการประเมินผู้อำนวยการยังยึดติดกับจำนวนนักเรียนมากก็จะทำให้มีเรื่องทำตัวเลขเด็กผีเกิดขึ้น โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากให้มีการแบ่งขนาดของโรงเรียนเล็ก กลาง ใหญ่ แต่ไม่ใช่จะให้ทำตอนนี้ เพราะจากการรายงานตอนนี้มีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 250 คน ถึง 20,000 โรง นักเรียนต่ำกว่า 120 คน มีอยู่ 15,000 โรง ซึ่งต้องดูว่าการจัดขนาดโรงเรียนเล็ก กลาง ใหญ่ เป็นประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรจริงหรือไม่ เพราะจะทำให้คนที่ทำการทุจริตจะรายงานเพื่อหวังผล อัพตัวเลขเพื่อตัวเองอย่างที่เคยเป็นข่าว หรือไม่ก็อยากได้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าตอนนี้น้อยลงแล้ว ส่วนระดับอาชีวศึกษายังไม่มีรายงานว่ามีวิทยาลัยไหนแจ้งตัวเลขเท็จ แต่ถ้าเจอก็ต้องดำเนินการ เพราะถือว่ามีการทุจริต ใครทำอะไรตอนนี้ก็ต้องถูกตรวจสอบและไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลี้ยงเขาไว้
ผู้สื่อรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนมายังสื่อมวลชนว่ามีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ในจังหวัดทางภาคอีสานได้แจ้งศธ.02 หรือ โปรแกรมงานทะเบียนและวัดผลการศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมของศธ.จัดเก็บนักเรียนในสายอาชีพ(ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)ซึ่งเป็นหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อันเป็นเท็จ โดยมีจำนวนนักเรียนที่ไม่มีตัวตนปนอยู่ในระบบ 365 คน ไม่ได้คัดชื่อออกจากระบบตั้งปี 2557 ยกตัวอย่างเช่น แจ้งรายชื่อนักเรียนมาเรียน 37 คน แต่มาเรียนจริงแค่ 7 คน เป็นต้น ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินไปปีละประมาณกว่า 2 ล้านบาท